Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มิถุนายน 2552

เศรษฐกิจไทย

จับตาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ … แรงกดดันต่อเงินเฟ้อและฐานะดุลการค้าไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2164)

คะแนนเฉลี่ย

การทะยานขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมนับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงต้นเดือนมิถุนายน 2552 สร้างความกังขาให้กับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ว่า การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านั้น มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งรองรับมากเพียงใด ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว น้ำมัน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ก็ต้องเผชิญแรงเทขายในช่วงต่อมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แม้จะมีสัญญาณเชิงบวก แต่ก็ยังคงสะท้อนว่า เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะหดตัว และ/หรือการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพในปีนี้ไปได้ แต่อย่างไรตาม มีความเป็นไปได้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกที่อาจทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงปีหน้า อาจกลายมาเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อีกครั้ง

ผลการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ความผันผวนของราคาน้ำมัน (ซึ่งมักจะนำไปสู่ความผันผวนของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม) ที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไปตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง เนื่องจากไทยมีอัตราการพึ่งพาน้ำมันสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย โดยหากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและระดับราคาสินค้าควบคู่กันกับความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและมูลค่าการนำเข้าโดยรวมจะพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของระดับราคาสินค้าและมูลค่าการนำเข้าเทียบกับราคาน้ำมันในกรณีของไทยนั้น มีระดับที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งนั่นก็เป็นนัยว่า ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระดับราคาและฐานะดุลการค้า อาจกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในระยะถัดไป นอกจากนี้ ผลการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังพบอีกว่า ฐานะดุลการค้าของไทยอาจมีแนวโน้มอ่อนแอลงหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมปรับตัวสูงขึ้น

และสำหรับทางการไทยในช่วงเวลานั้น ก็คงจะต้องเตรียมมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจที่อาจได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มในช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อซึ่งน่าที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 และต่อเนื่องไปตลอดปี 2553 ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็อาจต้องเตรียมเผชิญกับโจทย์ที่ซับซ้อนในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงเวลานั้น ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจเริ่มฟื้นตัวขึ้น พร้อมๆ ไปกับการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อซึ่งอาจทำให้ต้นทุนของการระดมทุนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ โจทย์ในการดูแลค่าเงินบาท ก็อาจจะเผชิญกับความผันผวนได้ หากฐานะดุลการค้าของไทยกลับมาอ่อนแอลงตามการฟื้นตัวของการนำเข้าและราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2552 ต่อเนื่องไปยังปี 2553

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย