Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 กรกฎาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ... หดตัวน้อยกว่าช่วงครึ่งแรก แต่ยังคงเผชิญความเสี่ยง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2549)

คะแนนเฉลี่ย

จากการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนล่าสุด ที่มีการรายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2552 อาจยังคงหดตัวสูงประมาณร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ก็เป็นอัตราลบที่ชะลอลงกว่าในไตรมาสแรกที่จีดีพีหดตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 ซึ่งน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจถดถอยในรอบนี้แล้ว โดยการที่จีดีพีชะลอการหดตัวลงแม้ว่าเป็นช่วงที่มีปัจจัยลบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายนและการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น ที่สำคัญเป็นผลมาจากการใช้จ่ายวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ของรัฐบาล ซึ่งก็น่าจะช่วยประคองภาวะการบริโภคของภาคเอกชนไว้ได้บ้าง ประกอบกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัวชะลอลงกว่าไตรมาสแรกค่อนข้างมาก

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยจากดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Probability Index for Economic Recovery) ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำขึ้นนั้น พบว่าโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2552) เพิ่มขึ้นมาที่เฉลี่ยร้อยละ 63 จากจุดต่ำสุดที่ระดับร้อยละ 19 เมื่อเดือนมีนาคม โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีปัจจัยบวกมากขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศชั้นนำหลายประเทศมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม รวมทั้งอัตราการว่างงานในประเทศแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนแต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากับที่เคยหวั่นเกรงกัน

ขณะเดียวกัน ความกังวลต่อสถานะการคลังของรัฐบาลลดน้อยลง หลังจากพ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เป็นวงเงิน 400,000 ล้านบาทได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เปิดทางให้รัฐบาลมีเงินทุนเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ซึ่งถ้าดำเนินการได้จริงก็จะทำให้มีการกระจายการลงทุนและมีเงินหมุนเวียนลงไปยังท้องถิ่นได้ ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ระดับความเสี่ยงภายใต้สมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจในกรณีเลวร้ายที่สุด ลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงเผชิญความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ สถานการณ์การเมืองในประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาล ปัญหาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมัน ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อ หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วกว่าอุปสงค์ที่แท้จริง นอกจากนี้ ภาคการส่งออกอาจได้รับแรงกดดันจากทิศทางค่าเงินบาท ซึ่งอาจยังคงมีแรงหนุนให้อยู่ในระดับที่แข็งค่า เนื่องจากไทยยังมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและมีแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าในช่วงครึ่งปีหลัง

โดยภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จะหดตัวร้อยละ 0.7-3.6 ปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะติดลบร้อยละ 6.3 โดยคาดว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 จะหดตัวร้อยละ 4.2-5.0 ขณะที่ในไตรมาสที่ 4/2552 อาจอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 2.3 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.9 ส่งผลให้จีดีพีตลอดทั้งปี 2552 ปรับขึ้นมาเป็นหดตัวร้อยละ 3.5-5.0 จากเดิมคาดการณ์ว่าจะหดตัวร้อยละ 3.5-6.0 โดยกรอบล่างของประมาณการอยู่ภายใต้สมมติฐานกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจโลกอาจยังคงฟื้นตัวได้ล่าช้า และความไม่แน่นอนทางการเมืองจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยคาดว่า การบริโภคของภาคครัวเรือนจะหดตัวร้อยละ 1.7-2.1 การลงทุนหดตัวร้อยละ 9.0-10.0 การส่งออกหดตัวร้อยละ 14.5-19.0 ขณะที่การนำเข้าหดตัวลงร้อยละ 23.5-28.5 ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงขึ้นมาที่ 16,000-16,500 ล้านดอลลาร์ฯ

หน่วย : % YoY ยกเว้นระบุ

2550

2551

2552

อัตราการขยายตัวของจีดีพี

4.9

2.6

-5.0 to -3.5

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล)

72.5

97.1

60.0-65.0

การบริโภคของภาคเอกชน

1.6

2.5

-2.1 ถึง -1.7

การลงทุน

1.3

1.1

-10.0 ถึง -9.0

การขาดดุลงบประมาณ (% ของจีดีพี)

-1.5

-0.9

-7.0 ถึง -6.0

การส่งออก

17.3

16.8

-19.0 ถึง -14.5

การนำเข้า

9.1

26.4

-28.5 ถึง -23.5

ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ฯ)

11.6

0.2

15.9-16.9

ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ฯ)

14.0

-0.2

16.0-16.5

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป

2.3

5.5

-0.5 ถึง 0.5

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน

1.1

2.4

0.4-0.9

จำนวนผู้ว่างงาน (พันคน)

501

514

800-920

อัตราการว่างงาน

1.4

1.4

2.1-2.5

* ประมาณการโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ข้อมูล ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2552

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย