Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กรกฎาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

แนวโน้มเงินเฟ้อทั้งปี 2552 … มีโอกาสติดลบ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2548)

คะแนนเฉลี่ย

จากการรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ยังคงติดลบสูงขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในเดือนพฤษภาคม และเป็นตัวเลขลบต่อเนื่องมาตลอด 6 เดือนแรกของปี 2552 อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) แล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากผลของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.9 ในช่วงเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม

ในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมิถุนายนลดลงร้อยละ 1.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นตัวเลขลบต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และเป็นเดือนที่ 2 ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงออกนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.0-3.5 นอกจากนี้ยังพบว่าทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเดือนมิถุนายนนี้ ถือเป็นอัตราติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างน้อยในรอบ 18 ปี (นับตั้งแต่มีข้อมูลรายเดือนที่รวบรวมไว้) ทั้งนี้ โดยภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแม้จะมีปัจจัยหนุนให้ระดับราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น โดยที่สำคัญเป็นผลจากทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังน่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อไปอีก หากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ แต่ขนาดของการขยายตัวจะมากหรือน้อยเพียงใดนั้นยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากมีตัวแปรสำคัญในด้านมาตรการของรัฐที่ต้องติดตาม คือ การตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาใช้มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ภายใต้ 5 มาตรการ 6 เดือน ซึ่งจะมีผลถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ยังต้องรอข้อสรุปเกี่ยวกับการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งตัวแปรด้านมาตรการนี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนภาพเงินเฟ้อมากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม จากผลของเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกที่ต่ำกว่าที่คาด ประกอบกับภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีหลังอาจยังคงอ่อนแอ จากสภาวะการว่างงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจจะทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมลดการออกไปทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้มากนัก แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อติดลบอาจคงอยู่ยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปลายไตรมาสที่ 3/2552 หรือต้นไตรมาสที่ 4/2552 จากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะเป็นช่วงกลางไตรมาสที่ 3

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดกรอบประมาณการแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 ลงมาอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.5 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0-1.0 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2551 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อาจจะกลับมาขยายตัวได้ จากที่ติดลบร้อยละ 1.6 ในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.4-0.9 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 0.5-1.0 โดยลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะอยู่ในภาวะติดลบยาวนานกว่าที่คาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเคลื่อนไหวอยู่นอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท. (ที่ร้อยละ 0.0-3.5) แต่แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ามีปัจจัยผลักดันให้ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลับเข้ามาสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อได้ภายในไตรมาสที่ 3/2552 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะกลับขึ้นมาสู่ระดับสูงกว่าร้อยละ 3.5 ในช่วงปลายปี ความเป็นไปได้ของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธปท. จึงลดน้อยลง แต่เงินเฟ้อที่ยังคงเป็นระดับที่ต่ำนี้ก็น่าจะสนับสนุนให้ธปท. สามารถดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2552 นี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย