Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 สิงหาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมติดลบสูงกว่าที่คาด ... แต่น่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2582)

คะแนนเฉลี่ย
จากการรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2552 ลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(Year-on-Year) ยังคงติดลบสูงขึ้นจากร้อยละ 4.0 ในเดือนมิถุนายน และลดลงมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ อีกทั้งยังเป็นอัตราลบต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนกรกฎาคมลดลงร้อยละ 1.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราลบที่สูงขึ้นจากร้อยละ 1.0 ในเดือนก่อนหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ภายนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.0-3.5 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สำหรับภาพรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.9 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมากกว่าที่คาด ประกอบกับการขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชนออกไป ภายใต้ 5 มาตรการ 5 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2552 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ราคาสินค้ายังคงมีระดับต่ำนี้ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่องต่อไปตลอดทั้งไตรมาสที่ 3/2552 แต่จะมีอัตราลบที่ชะลอลง และกว่าที่เงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกอาจต้องรอคอยไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะค่อยๆ ติดลบในอัตราที่น้อยลงนี้ เป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบ (Base Effect) ในปีก่อน ที่เงินเฟ้อเริ่มชะลอความร้อนแรงลงตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกในระยะต่อจากนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าผู้บริโภคโดยเฉลี่ยค่อยๆ ขยับสูงขึ้นในที่สุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3/2552 จะติดลบในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.1-2.3 (YoY) จากที่ลดลงร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่ 2/2552 และภายใต้สภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบยาวนานตลอด 3 ไตรมาสของปี จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีเป็นตัวเลขติดลบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 ลงมาอยู่ในช่วงลดลงร้อยละ 0.4-0.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากเดิมคาดการณ์ไว้ในช่วงลดลงร้อยละ 0.5 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลงเป็นขยายตัวร้อยละ 0.0-0.5 จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 0.4-0.9
สำหรับนัยต่อการดำเนินนโยบายของทางการนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางเงินเฟ้อดังกล่าวคงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ โดยแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบสูง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหลุดออกไปจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท. แต่ทางการมองว่าเงินเฟ้อที่ติดลบนี้ส่วนสำคัญเป็นผลจากมาตรการรัฐในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และไม่ใช่สัญญาณที่สะท้อนภาวะเงินฝืด ประกอบกับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะค่อยๆ กลับมาสูงขึ้น ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกนั้นจึงมีค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงมีระดับต่ำนี้ น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ธปท. ยังไม่พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีนี้ อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปี 2553 อาจเพิ่มความซับซ้อนให้แก่การดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ในการที่จะรักษาเป้าหมายหลายด้านไปพร้อมกัน ทั้งเป้าหมายในด้านเสถียรภาพราคา เป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้กระทบต่อภาคการส่งออก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย