Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 สิงหาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

โครงการภาครัฐ...กระตุ้นธุรกิจก่อสร้าง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2603)

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์การก่อสร้างของไทยเริ่มหดตัวลงในปี 2551 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยสาเหตุที่สำคัญเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ และสภาวการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และจากเศรษฐกิจโลก โดยการลงทุนในด้านการก่อสร้างภายในประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 หดตัวลงร้อยละ 8.8 (YoY) ขณะที่แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้นมากนัก

สำหรับในไตรมาส 2 การก่อสร้างภาครัฐ น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการจัดสรรงบลงทุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และงบในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 (SP1) ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยน่าจะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก จากปัญหาการเมืองในช่วงเดือนเมษายน ปัญหาอุปทานคงค้างที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่มีค่อนข้างน้อย

สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมยังมีทิศทางลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 2 เช่นกัน แต่ในช่วงปลายไตรมาส เริ่มมีสัญญานที่การพัฒนาโครงการศูนย์การค้า เริ่มมีการลงทุนพัฒนาห้างสรรพสินค้าใหม่ และศูนย์การค้าในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ แต่โครงการต่างๆ จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทอุตสาหกรรมและอื่นๆ คาดว่าจะยังคงหดต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยลบจากต่างๆ ซึ่งทำให้ความต้องการบริโภคหดตัวอย่างมาก ผู้ประกอบการยังไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่ จึงปรับลดกำลังการผลิตลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนก่อสร้างในไตรมาส 2 ปี 2552 โดยรวมจะมีการหดตัวร้อยละ 5.5 ซึ่งมาจากการหดตัวในการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนร้อยละ 8.6 ขณะที่ภาครัฐมีการหดตัวร้อยละ 2.1

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง 2552 ว่าโดยรวมจะมีการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยมีการหดตัวที่ชะลอลง โดยเฉพาะหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) หรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะพลิกฟื้นธุรกิจก่อสร้างให้กลับมากระเตื้องขึ้น ซึ่งมาตรการนี้ในระยะแรกจะเน้นที่โครงการขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการได้ในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้การก่อสร้างภาครัฐอาจเริ่มฟื้นตัวก่อน ตามมาด้วยการก่อสร้างประเภทพาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และอื่นๆ ที่จะมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับจากปัจจัยบวกต่างๆ

สำหรับโครงการที่สำคัญๆ ใน SP2 นี้ ได้แก่ โครงการถนนไร้ฝุ่น โครงการเกี่ยวกับชลประทาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีเม็ดเงินจำนวนมากไหลสู่ภาคก่อสร้าง คือ โครงการขนส่งมวลชนอาจจะสามารถเริ่มได้ในปลายปี 2552 โดยเฉพาะ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง บางใหญ่-บางซื่อ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต อาจเร่งการตัดสินใจซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ การย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติและมาตรการส่งเสริมการลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง เสถียรภาพทางการเมืองจึงเป็นตัวแปรความเสี่ยงที่สำคัญยิ่งที่อาจทำให้โครงการก่อสร้างของรัฐต้องเลื่อนออกไป ซึ่งจะส่งผลให้การก่อสร้างอาจไม่ฟื้นตัวดังที่คาด สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ปัญหาการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ

โดยภาพรวมคาดว่าในครึ่งหลังปี 2552 การก่อสร้างภาคเอกชนจะหดตัวร้อยละ 7.0-8.1 ส่วนการก่อสร้างภาครัฐอาจจะหดตัวร้อยละ 0.2-6.7 ทำให้ทั้งภาคก่อสร้างมีการลงทุนหดตัวร้อยละ 3.5-7.4 สำหรับทั้งปีแล้ว คาดว่า การก่อสร้างภาคเอกชนจะยังหดตัวที่ร้อยละ 7.2-8.7 ขณะที่การก่อสร้างภาครัฐหดตัวร้อยละ 1.6-7.4 ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจก่อสร้างหดตัวร้อยละ 4.5-8.1 จากที่หดตัวร้อยละ 5.0 ในปี 2551

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย