Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 สิงหาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนกรกฎาคม 2552 ... มีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่แนวโน้มยังคงเปราะบาง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2617)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนก.ค. 2552 ที่รายงานโดยธปท.ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่า การใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สะท้อนสัญญาณเชิงบวกกระจายออกไปในอุตสาหกรรมหลายประเภทมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากกว่าการส่งออก ได้ส่งผลทำให้ไทยบันทึกยอดเกินดุลการค้าที่ลดน้อยลงในเดือนก.ค. 2552

  • การใช้จ่ายภาคเอกชน การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว MoM เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังคงหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงร้อยละ 1.8 และหดตัวร้อยละ 14.3 ในเดือนก.ค. แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.7 และหดตัวร้อยละ 15.3 ในเดือนมิ.ย.

  • การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงขยายตัว MoM อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ การหดตัว YoY ลดน้อยลงเหลือร้อยละ 7.3 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 8.3 ในเดือนมิ.ย. โดยสัญญาณบวกของการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายวงไปสู่อุตสาหกรรมหลายๆ ประเภทมากขึ้น และได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (ปรับฤดูกาล) ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 61.3 จากร้อยละ 59.5 ในเดือนก่อนหน้า

  • ภาคต่างประเทศ การส่งออกยังคงหดตัวสูงร้อยละ 25.7 (YoY) เนื่องจากฐานเปรียบเทียบ ขณะที่ การนำเข้าทรุดตัวแรงขึ้นร้อยละ 31.7 ในเดือนก.ค. อย่างไรก็ตาม จากการที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น MoM น้อยกว่ามูลค่าการนำเข้า ได้ส่งผลให้ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุล 799.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ค. ลดลงจากที่เกินดุล 938.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย. ขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลเพียง 377.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ค. เทียบกับที่เกินดุล 476.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย.

ดยสรุป จากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม 2552 ที่รายงานโดยธปท. สะท้อนให้เห็นว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีแรงส่งอย่างต่อเนื่องเมื่อย่างเข้าสู่ไตรมาส 3/2552 โดยที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายภาคส่วนพลิกกลับมาขยายตัว ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และ/หรือหดตัวในอัตราที่ชะลอลงในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวทางนโยบายเศรษฐกิจของทางการไทย ทั้งในด้านนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ก็น่าที่จะยังคงยืนในเชิงที่ผ่อนคลายเพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีความต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2552

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังหลายปัจจัยในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยการเมืองในประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และกดดันบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังคงสะท้อนสัญญาณที่ปะปน ก็อาจเป็นประเด็นที่ภาคการส่งออกของไทยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3/2552 จะยังคงทยอยฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดย GDP ของไทยอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter) ซึ่งก็จะทำให้อัตราการหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ของไตรมาส 3/2552 ชะลอมาที่ร้อยละ 4.5 ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.9 และหดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาสที่ 2/2552 และไตรมาสที่ 1/2552 ตามลำดับ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย