Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กันยายน 2552

เศรษฐกิจไทย

ภาวะเงินเฟ้อติดลบใกล้สิ้นสุด...แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากอุปสงค์ยังไม่ปรากฏ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2618)

คะแนนเฉลี่ย

จากการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2552 โดยกระทรวงพาณิชย์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เป็นอัตราที่ชะลอลง จากที่ติดลบทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์อย่างน้อยในรอบ 18 ปี (นับตั้งแต่มีข้อมูลรายเดือนที่รวบรวมไว้) ที่ร้อยละ 4.4 เมื่อเดือนกรกฎาคม ขณะเดียวกัน หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) แล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากผลของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น

ในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนสิงหาคมลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สำหรับภาพรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.9 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เริ่มติดลบน้อยลง สะท้อนนัยว่าเศรษฐกิจไทยใกล้ที่จะหลุดพ้นภาวะเงินเฟ้อติดลบได้ในไม่ช้า แต่จากมาตรการของรัฐบาลในการดูแลปัญหาค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เช่น การตรึงราคาพลังงาน คงมีผลทำให้การปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อภายในประเทศเป็นไปอย่างช้าๆ ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3/2552 จะติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1-2.2 (YoY) จากที่ลดลงร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่ 2/2552 แต่ผลของฐานเปรียบเทียบที่เงินเฟ้อในช่วงปลายปีของปีก่อนหน้ามีระดับค่อนข้างต่ำ จึงอาจจะเห็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปลายปีนี้เริ่มมีระดับสูงขึ้น และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลต้องยกเลิกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในโครงการต่างๆ ลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 อาจจะติดลบเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.4-0.9 ขณะที่ในปี 2553 อาจจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.0-5.0

อย่างไรก็ตาม หากมองจากด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่คงที่มาตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่มีสัญญาณของแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากการใช้จ่ายในประเทศ เมื่อขจัดผลของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในกลุ่มอาหารสดออกไปแล้ว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2552 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.0-0.5 ลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551 ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 1.5-2.5

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามนับจากนี้ ที่สำคัญคือ ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ โดยราคาสินค้าบางประเภท เช่น น้ำตาล มีการปรับตัวสูงขึ้นไปมาก รวมทั้งต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทิศทางราคาน้ำมัน กฎเกณฑ์หรือมาตรการของทางการจีนในการควบคุมดูแลการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการลงทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังต้องติดตามการระบายสต็อกสินค้าเกษตรของรัฐบาลไทย ซึ่งอาจจะมีผลต่อราคาในตลาด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย