หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีแนวคิดในการปรับกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายมาตั้งแต่ปลายปี 2551 ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติเห็นชอบกรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกรอบใหม่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธปท. ที่ร้อยละ 0.5-3.0 จากเดิมที่ร้อยละ 0-3.5 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2552 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประเทศไทยได้เริ่มใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ในการดำเนินนโยบายการเงิน ขณะที่ การกำหนดกรอบเงินเฟ้อใหม่ให้แคบลงกว่าเดิมร้อยละ 1.0 นั้น หวังผลในการดูแลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวไม่ผันผวนจนเกินไป และมีความใกล้เคียงกับขนาดช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ มากขึ้น
ทั้งนี้ แม้กรอบเงินเฟ้อใหม่ดังกล่าว จะสะท้อนถึงข้อผูกมัดและความตั้งใจ (Commitment) ของทางการในการดูแลเป้าหมายเสถียรภาพด้านราคา (Price Stability) ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยทำให้สามารถรับมือและดูแลคาดการณ์เงินเฟ้อจากฝั่งของนักลงทุนและภาคเอกชนได้ดียิ่งขึ้น อันจะมีผลส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ยังคงความยืดหยุ่นของการตัดสินใจเชิงนโยบายเอาไว้
ดังจะเห็นได้จากช่วงการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อที่ยังมีระยะห่างพอสมควร แต่ในช่วงอีกหลายเดือนข้างหน้า ผู้กำหนดนโยบายอาจต้องเผชิญความท้าทายเฉพาะหน้าจากปัญหาเงินเฟ้อพื้นฐานรายไตรมาส ที่อาจยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าขีดล่างของกรอบเงินเฟ้อใหม่ไปจนถึงช่วงประมาณไตรมาส 4/2552 โดยสถานการณ์ดังกล่าว อาจกลายเป็นโจทย์ย้อนกลับมายังผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องอธิบายและชี้แจงต่อตลาดเงิน
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นตามคาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสคงจะค่อยๆ ทยอยขยับขึ้นมายืนเหนือระดับร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ ได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/2553 เป็นต้นไป ทำให้ประเด็นการหลุดกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าว น่าจะเป็นประเด็นในระยะสั้นๆ เท่านั้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น