Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ตุลาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนสิงหาคม 2552 บ่งชี้การฟื้นตัวยังคงเปราะบาง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2653)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนสิงหาคม 2552 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในภาพรวม ยังคงสะท้อนถึงแนวทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ถึงแม้ว่าการฟื้นตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการ อาทิ การบริโภคภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรม จะอ่อนแรงกว่าคาดก็ตาม แต่ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความไม่ต่อเนื่องของสัญญาณบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าว ถือเป็นสถานการณ์ปกติของเศรษฐกิจที่เพิ่งจะเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัว (จากภาวะถดถอย) ซึ่งเป็นนัยว่า เศรษฐกิจไทยยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงิน-การคลังในระยะถัดไปเพื่อประคับประคองการฟื้นตัว และลดความเสี่ยงที่จะกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง

ทั้งนี้ คาดว่า แนวนโยบายของทางการไทย (ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินที่ยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ)น่าที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกของปีหน้า แต่คงจะต้องจับตา 2 ตัวแปรสำคัญ ก็คือ แรงกดดันเงินเฟ้อที่จะเป็นตัวกำหนดจังหวะเวลาการเริ่มวัฏจักรคุมเข้มนโยบายการเงินของธปท. และเสถียรภาพการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ กดดันบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชน และบั่นทอนประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ ยังคงต้องติดตามประเด็นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองของรัฐบาลในปีหน้า

นอกจากนี้ แม้ว่าการส่งออกของไทยจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทิศทางของค่าเงินบาท และความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกของไทย ก็คงเป็นประเด็นที่ทางการไทยต้องเฝ้าระวังเช่นกัน เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคส่งออกดังกล่าวยังคงต้องพึ่งพาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่เป็นปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุม ทั้งนี้ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอาจจะไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควร แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2552 จะยังคงน้อยกว่าการหดตัวในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2552 โดยอัตราการหดตัวของ GDP ในไตรมาส 3/2552 อาจน้อยกว่าร้อยละ 4.5 รวมทั้งดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.9 และหดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาสที่ 2/2552 และไตรมาสที่ 1/2552 ตามลำดับ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย