Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 ตุลาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

โอกาสฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพิ่มขึ้นมาที่ 97% … แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2183)

คะแนนเฉลี่ย

จากการประเมินเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ได้มีการรายงานออกมา สะท้อนการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมเศรษฐกิจเกือบทุกด้าน ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า จีดีพีของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2552 ที่ปรับฤดูกาลแล้ว จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonal Adjusted Quarter-on-Quarter) หลังจากที่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2552 ที่ร้อยละ 2.3 (QoQ, SA) ขณะที่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) คาดว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 จะหดตัวไม่เกินร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นอัตราลบที่ชะลอลงกว่าในไตรมาสที่ 2/2552 ที่หดตัวร้อยละ 4.9

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ จากการวิเคราะห์โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า โอกาสความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2552) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 97 สูงขึ้นค่อนข้างมากจากระดับเฉลี่ยร้อยละ 84 ในเดือนก่อนหน้า โดยถ้าหากไม่มีเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยลบอื่นนอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สะท้อนผ่านมาจากตัวแปรชี้นำแล้ว ก็คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2552 น่าจะมีอัตราขยายตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่กลับมาเป็นบวกได้

จากทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงที่ลดลงของเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรง อาทิ เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง และการกลับมาแพร่ระบาดรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 นี้ ให้แคบลงมาอยู่ในช่วงระหว่างหดตัวร้อยละ 3.5-4.1 จากประมาณการเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจอาจจะหดตัวร้อยละ 3.5-5.0 สำหรับแนวโน้มในปี 2553 คาดว่า เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้อยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5

ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ได้แก่ ความยั่งยืนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งความคืบหน้าของแผนกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ส่วนการขยายตัวของภาคการบริโภคและการลงทุนของเอกชนน่าจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการฟื้นตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนนั้นอาจจะเห็นได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ไปแล้ว เนื่องจากโดยปกติแล้วมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจค่อนข้างช้ากว่ามาตรการกระตุ้นที่เป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง แต่มีข้อดีคือสามารถก่อให้เกิดผลทวีคูณจากการหมุนของเศรษฐกิจหลายรอบ อีกทั้งยังมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศในอนาคต

สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้แก่ ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสความมั่นใจต่อโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น หลังจากประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญประสบปัญหาภัยธรรมชาติรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้นอกจากนี้ในด้านราคาน้ำมันยังมีโอกาสได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี

ซึ่งหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นรวดเร็วจากผลของปัญหาด้านอุปทาน อาจจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะมีผลทั้งต่อการฟื้นตัวของภาคการบริโภคและทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก สำหรับประเด็นภายในประเทศ ปัจจัยทางการเมืองยังมีประเด็นที่ต้องติดตามหลายเรื่อง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบการทุจริตในโครงการสำคัญของรัฐ และความมีเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นต้น ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และการคลี่คลายปัญหาความไม่ชัดเจนของหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนในโครงการที่มีการกำหนดกรอบแนวทางไว้เป็นการเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการทำความเข้าใจต่อประเด็นดังกล่าวกับนักลงทุน เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเสี่ยงที่จะฉุดให้เศรษฐกิจไทยกลับมาทรุดตัวลงอย่างรุนแรงนั้นอาจลดน้อยลงแล้วในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ แต่เศรษฐกิจยังคงเผชิญปัจจัยความไม่แน่นอน ที่อาจทำให้กลับมาชะลอตัว หรือมีการฟื้นตัวในลักษณะรูปตัว W ได้ โดยต้องยอมรับว่าแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องอาศัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความสำเร็จของการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นกุญแจสำคัญ ดังนั้น หากเกิดสถานการณ์ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว โดยเฉพาะประเด็นที่จะกระทบต่อดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็อาจจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขาดความต่อเนื่องได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย