Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 ตุลาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

กินเจปี’52 : เม็ดเงินเพิ่ม 2.4%....คนกรุงฯเน้นประหยัด แต่ราคาสินค้าพุ่ง (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2184)

คะแนนเฉลี่ย

เทศกาลกินเจในปี 2552นี้อยู่ในระหว่างวันที่ 18-26 ตุลาคม บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าบรรยากาศจะไม่ค่อยคึกคักเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากคนกรุงเทพฯเน้นประหยัด อันเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน แม้ว่าจำนวนคนกรุงเทพฯที่ตั้งใจจะกินเจมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังกินเจตามสะดวก ไม่ได้ยึดถือประเพณีอย่างเคร่งครัด โดยเลือกรับประทานบางมื้อ/บางวันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเจจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะผัก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญประเภทหนึ่งในการประกอบอาหารเจ

อุปสรรคสำคัญของเทศกาลกินเจในปีนี้ยังคงเป็นปัญหาเดิมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา คือ ราคาผักที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น แม้ว่าในช่วงเทศกาลกินเจทุกปี(ประมาณช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคม)ราคาผักจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในปี 2552 นี้มีแนวโน้มว่าราคาผักอาจจะสูงไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ราคาผักสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผลกระทบจากลมมรสุมในปีนี้จะรุนแรงกว่าในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่

โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ รวมทั้งสภาพฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง จากอิทธิพลของลมมรสุม สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตผัก โดยเฉพาะผักกินใบ ทำให้ราคาผักหลายชนิดเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม และคาดว่าราคาผักโดยเฉลี่ยจะอยู่ในเกณฑ์สูงต่อไปจนถึงช่วงเทศกาลกินเจ ภาวะราคาผักที่เพิ่มสูงในช่วงเทศกาลกินเจส่งผลให้ราคาอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขายและอาหารเจตามสั่งมีแนวโน้มแพงขึ้น โดยคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอีกประมาณ 5-10 บาทต่อถุงหรือจานเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้จำหน่ายอาหารเจในปีนี้คงต้องตัดสินใจว่าจะปรับราคาขึ้น โดยคงต้องอธิบายกับลูกค้า หรือจะไม่จำหน่ายอาหารเจในปีนี้ สำหรับผู้ค้าบางส่วนที่พิจารณาแล้วว่าไม่คุ้มทุน เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาจำหน่ายก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก ทั้งจากแรงกดดันด้านลูกค้าที่อาจจะลดปริมาณการซื้อหรือหันไปซื้อร้านอื่น และคู่แข่งผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารเจกึ่งสำเร็จรูป และอาหารเจสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็งที่มีการเพิ่มเมนูเจ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค อีกทั้งราคาจำหน่ายไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และใกล้เคียงกับอาหารเจประเภทตักขายหรือตามสั่ง

เทศกาลกินเจเป็นหนึ่งในเทศกาลที่บรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นเทศกาลหนึ่ง ดังนั้น หลากหลายธุรกิจจึงหันมาเกาะกระแสอาหารเจในฐานะที่เป็นอาหารสุขภาพ ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน โดยจะเห็นได้จากที่เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ถึงเทศกาลกินเจในสื่อต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม คาดว่าในปีนี้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้จำหน่ายอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย หรืออาหารเจตามสั่งบางส่วนยังจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากเทศกาลกินเจ โดยกุญแจสำคัญคือ การรู้จักพลิกแพลงในการใช้วัตถุดิบเพื่อประกอบอาหาร ซึ่งทำให้สามารถคงราคาอาหารเจหรือปรับราคาจำหน่ายน้อยที่สุด ซึ่งราคาจำหน่ายที่เหมาะสมนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการดึงดูดลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคอาหารเจยังเน้นนโยบายประหยัดเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา เนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทำให้บรรดาผู้ที่จำหน่ายอาหารเจบางรายปรับตัวโดยการใช้กลยุทธ์ไม่ปรับราคา โดยอาจจะลดปริมาณลงเล็กน้อย หรือพลิกแพลงประเภทวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารเพื่อเฉลี่ยต้นทุนไม่ให้เพิ่มขึ้นมากนัก ทำให้สามารถจำหน่ายในราคาเดิมได้ อย่างไรก็ตาม ผู้จำหน่ายอาหารเจบางรายก็ตัดสินใจไม่จำหน่ายอาหารเจ หรือบางรายก็ปรับราคาจำหน่าย โดยเน้นการทำความเข้าใจกับลูกค้าถึงปัญหาราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาผักที่แพงขึ้นอย่างมากในปีนี้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขายอาหารเจก็ปรับตัวด้วยการเริ่มจำหน่ายอาหารเจล่วงหน้าตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม โดยจะเริ่มเห็นธงสัญลักษณ์อาหารเจบ้างแล้ว แม้ว่าเทศกาลรับประทานอาหารเจจะเริ่มในช่วงเย็นของวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งถือว่าเป็นมื้อล้างท้องก่อนที่จะเข้าสู่การรับประทานอาหารเจกันจริงๆในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 18 ตุลาคม

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2552 มูลค่าตลาดอาหารเจในกรุงเทพฯจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.4 แม้ว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะรับประทานอาหารเจมากขึ้น เนื่องจากความต้องการทำบุญทำทาน ล้างกายล้างใจ โดยการงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ในช่วงเทศกาลกินเจ แต่จำนวนคนที่ระบุว่าจะรับประทานตามสะดวก โดยการรับประทานบางมื้อหรือบางวันเพิ่มขึ้น รวมทั้งคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเน้นประหยัด อันเป็นผลมาจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ และภาวะราคาสินค้าทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคยังอยู่ในเกณฑ์สูง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย