Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 ตุลาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

แรงงานไทยในต่างประเทศปี’52 ... เงินส่งกลับลดลง 5,000-10,000 ล้านบาท (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2668)

คะแนนเฉลี่ย

แม้สถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศล่าสุดจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศทั้งสิ้นจำนวน 12,403 คน ในเดือนสิงหาคม 2552 ลดลงร้อยละ 3.2 (YoY) เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.5 ในเดือนก่อน ขณะที่ สถานการณ์ในภาพรวมฟื้นตัวขึ้นจากในเดือนมีนาคม 2552 ที่มีแรงงานได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศเพียง 9,592 คน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 14 ปี (นับตั้งแต่ที่มีการจัดเก็บข้อมูลรายเดือนในปี 2538)

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้ว จำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศยังคงปรับลดลง ซึ่งสะท้อนว่าการฟื้นตัวอาจยังไม่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ หากพิจารณาแยกเป็นรายประเทศแล้วพบว่า ตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในบางประเทศยังคงปรับตัวแย่ลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน อาทิ ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอิสราเอล ขณะที่ รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศ แม้จะหดตัวในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 16.8 (YoY) ในเดือนก.ค. มาเป็นหดตัวร้อยละ 11.3 ในเดือนส.ค. แต่ก็เป็นการลดลงต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ส่งผลให้รายได้ส่งกลับลดลงร้อยละ 14.7 (YoY) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 ในปี 2551 หรือคิดเป็นเงินที่หายไปประมาณ 6.2 พันล้านบาท

สำหรับแนวโน้มแรงงานไทยในต่างประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณการฟื้นตัวยังคงเปราะบาง ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการโดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายด้านแรงงานของประเทศปลายทาง ทั้งนี้ แม้แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศปลายทางที่แรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงานทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ จะมีสัญญาณบวกจากการปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานในประเทศดังกล่าวที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจทำให้ภาคธุรกิจคงต้องใช้เวลาในการดูดซับกำลังการผลิตส่วนเกิน และแรงงานที่ว่างงานอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ความต้องการแรงงานจากต่างประเทศ รวมทั้งแรงงานไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ชะลอตัว

ขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศยังมีข้อจำกัดจากนโยบายด้านแรงงานที่การจ้างงานในหลายประเทศปลายทางมีการจำกัด/ลดจำนวนแรงงานต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ประเทศไต้หวัน ที่รัฐบาลเตรียมแก้ไขระเบียบการนำเข้าแรงงานต่างชาติ รวมถึงลดจำนวนแรงงานต่างชาติในสาขาก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อให้คนท้องถิ่นได้เข้ามาทำงาน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ที่รัฐบาลมีนโยบายจูงใจให้จ้างแรงงานชาวสิงคโปร์มากกว่าแรงงานต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันแรงงานไทยได้รับอนุญาตให้ทำงานได้เฉพาะในกลุ่มงานก่อสร้าง อู่ต่อเรือ และงานรับใช้ในบ้าน ขณะที่ ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลมีนโยบายรับแรงงานชาวญี่ปุ่นเข้าทำงานก่อน เว้นแต่งานบางประเภทที่คนญี่ปุ่นไม่ถนัดหรือไม่ทำ กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ ประเทศซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน คูเวต และอิสราเอล ก็มีข้อจำกัดด้านนโยบายเช่นกัน

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง และข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงกรอบประมาณการจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศในปี 2552 ไว้ที่ 152,300-159,700 คน หรือลดลงประมาณร้อยละ 1.3-5.9 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2551 ส่วนแนวโน้มรายได้ส่งกลับของแรงงานไทยทั้งหมดในระยะถัดไป แม้คาดว่า น่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในเดือนพฤศจิกายน (YoY) ซึ่งเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ผนวกกับยังอาจได้รับผลบวกจากความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศปลายทาง แต่การลดลงในช่วงต้นปีเป็นต้นมาจากการปรับลดของความต้องการแรงงานของต่างประเทศดังกล่าว ยังคงทำให้รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศในปี 2552 อาจจะลดลงประมาณร้อยละ 8.3-15.8 จากปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าของเงินส่งกลับที่ลดลงประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.9

อย่างไรก็ตาม จากทิศทางเศรษฐกิจของประเทศปลายทางที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว คาดว่าน่าจะหนุนให้สถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 อันน่าจะมีนัยเชิงบวกต่อรายได้ส่งกลับของแรงงานไทยให้มีโอกาสทยอยฟื้นตัวขึ้นตามไปด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย