Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ตุลาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนกันยายน 2552 บ่งชี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2678)

คะแนนเฉลี่ย
ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนกันยายน 2552ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน
ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกันยายน 2552 ที่ยังคงปรับตัวในทิศทางที่ดีนั้น สะท้อนให้เห็นถึง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3/2552 โดยได้รับแรงหนุนทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งสภาวะผ่อนคลายทางการเงินที่เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของธปท. ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ตลอดจนการปรับตัวดีขึ้นของภาคส่งออก ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3/2552 การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 6.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (Seasonal Adjusted Quarter-on-Quarter : sa, QoQ) ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 และร้อยละ 0.2 ในไตรมาสที่ 2/2552 ตามลำดับ ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอีกร้อยละ 4.8 (sa, QoQ) ในไตรมาสที่ 3/2552 ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ในไตรมาสที่ 2/2552 ขณะที่ การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 9.3 (sa, QoQ) ในไตรมาสที่ 3/2552 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่ 2/2552

ทั้งนี้ จากพัฒนาการที่ดีขึ้นของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2552 ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลข GDP อาจขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 1.1 (sa, QoQ) ในไตรมาส 3/2552 ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ 2/2552 ซึ่งก็จะทำให้อัตราการหดตัวของ GDP จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ในไตรมาส 3/2552 โดยเป็นทิศทางที่ดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 4.9 และหดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาสที่ 2/2552 และไตรมาสที่ 1/2552 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากประเมินภาพต่อเนื่องไปยังไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจมีแรงหนุนจากการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 7.5 แต่ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง อาทิ เสถียรภาพทางการเมือง การคลี่คลายปัญหาความไม่ชัดเจนของหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนในโครงการที่มีการกำหนดกรอบแนวทางไว้เป็นการเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนแนวโน้มค่าเงินบาท รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย