หลังจากเศรษฐกิจไทยตกอยู่ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อติดลบมาตั้งแต่ต้นปี 2552 ในที่สุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนตุลาคม 2552 ก็เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน (Month-on-Month) เป็นที่สังเกตว่า เงินเฟ้อยังคงปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างจำกัด แม้เป็นช่วงเทศกาลกินเจที่สินค้าอาหารมักมีราคาสูงขึ้น สะท้อนแรงกดดันที่มีต่อผู้ประกอบการจากภาวะตลาดที่ยังคงซบเซา ทำให้ผู้ค้าพยายามคงราคาสินค้าไว้เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายซื้อสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนตุลาคมยังคงติดลบร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากเดือนกันยายน (MoM) โดยเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ภายนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้น่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 4/2552 อาจจะขยายตัวเป็นบวกประมาณร้อยละ 1.8 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 มีค่าเฉลี่ยติดลบร้อยละ 0.9 แต่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่เหนือร้อยละ 3.0 ในปี 2553 โดยมีแรงผลักดันจากปัจจัยด้านอุปทาน (Cost-Push Inflation) เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแอ น่าจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผู้ประกอบการยังไม่ปรับราคาสินค้าขึ้นมากนัก นอกจากนี้ ในปี 2553 จะมีสินค้านำเข้าภายใต้กรอบความตกลงการเสรีหลายฉบับ ที่ปรับลดอัตราภาษีศุลกากรลงเหลือ 0% ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการในประเทศจะต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาขายในราคาที่ต่ำลง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2553 จะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป หรือมีค่าเฉลี่ยทั้งปีไม่เกินร้อยละ 2.5 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 อาจจะยังคงมีระดับค่อนข้างต่ำอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 1.5 ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมักอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ในการติดตามเสถียรภาพราคา เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน ด้วยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในระดับดังกล่าว น่าจะยังเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินนโยบายการเงินเพื่อเป้าหมายในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น