Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 พฤศจิกายน 2552

เศรษฐกิจไทย

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจชะลอลง ... บทบาทของภาครัฐยังมีความสำคัญ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2692)

คะแนนเฉลี่ย

จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่มีการรายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า แม้จีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter) แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง จากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่ 2/2552 และต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ การบริโภคของรัฐบาล การลงทุน และการลดลงของระดับสินค้าคงคลัง ซึ่งการที่ธุรกิจยังชะลอที่จะสะสมสินค้าคลัง อาจสะท้อนว่าธุรกิจยังคงมีท่าทีที่ระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับจีดีพีที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) หดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.8 จากที่หดตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสที่ 2/2552 ซึ่งดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด แต่เป็นที่สังเกตว่า ตัวเลขที่ดีกว่าที่คาดดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ สศช. มีการปรับปรุงฐานข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 2549 ทำให้ตัวเลขจีดีพีในปี 2551 ลดลงต่ำกว่าการรายงานในครั้งก่อน

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น แต่มีโอกาสที่จีดีพีในไตรมาสที่ 4/2552 จะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, SA) และการฟื้นตัวในระยะข้างหน้ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยภาพรวม แม้เศรษฐกิจจะมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย แต่ทิศทางข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอน โดยในด้านเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วยังมีความเปราะบาง จากปัญหาการว่างงานสูงและความอ่อนแอของภาคการบริโภค

ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจเมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการของแต่ละประเทศนำออกมาใช้ เริ่มหมดไป ขณะที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย ที่เป็นความหวังว่าจะเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนั้น ยังเผชิญความเสี่ยงต่อโอกาสที่จะเกิดเงินเฟ้อสูง และการก่อตัวของฟองสบู่ในสินทรัพย์ สำหรับปัญหาการเมืองในประเทศ ยังคงเป็นความเสี่ยงหลักต่อการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล นอกจากนี้ การลงทุนในกิจการหลายประเภทเผชิญข้อติดขัดจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการลงทุน ซึ่งอาจมีผลต่อมูลค่าการลงทุนโดยรวม

การปรับปรุงข้อมูลจีดีพีย้อนหลังของ สศช. มีผลทำให้ประมาณการเศรษฐกิจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 4/2552 ที่ปรับฤดูกาลแล้ว อาจมีระดับค่อนข้างใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, SA ใกล้เคียงร้อยละ 0) ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จีดีพีจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ที่ประมาณร้อยละ 2.3 (YoY) ส่งผลให้จีดีพีในปี 2552 อาจหดตัวร้อยละ 3.1 (จากเดิมคาดว่าหดตัวร้อยละ 3.3) แต่คาดว่าในปี 2553 จะกลับมาขยายตัวได้ในระดับปานกลาง ที่ประมาณร้อยละ 3.0 โดยมีช่วงกรอบประมาณการอยู่ระหว่างร้อยละ 2.5-3.5

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในปี 2553 อาจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ บทบาทของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงนับว่ามีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 และงบภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งนอกจากความรวดเร็วแล้ว ยังต้องมีการบริหารจัดการและดูแลการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อให้เกิดผลในการกระตุ้นการเติบโตของภาคการผลิต การลงทุน การจ้างงาน และการบริโภคของภาคเอกชนตามมา ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการเสริมสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งขึ้นให้แก่ภาคเอกชน เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนนั้นจะไม่อาจเกิดขึ้นได้หากกิจกรรมเศรษฐกิจในภาคเอกชนยังอ่อนแอ

หน่วย : % YoY ยกเว้นระบุ

2551

2552

2553

อัตราการขยายตัวของจีดีพี

2.5

-3.1

2.5-3.5

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล)

97.1

62.0

75.0-85.0

การบริโภคของภาคเอกชน

2.7

-1.3

1.2-2.3

การลงทุน

1.2

-7.7

3.2-6.0

การขาดดุลงบประมาณ (% ของจีดีพี)

-1.0

-5.8

-4.5 to -3.5

การส่งออก

15.9

-13.9

9.0-12.0

การนำเข้า

26.5

-26.5

19.0-23.0

ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ฯ)

0.1

22.2

9.0-12.3

ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ฯ)

1.6

21.6

10.0-13.1

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป

5.5

-0.9

3.0-5.0

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน

2.4

0.3

1.5-2.5

จำนวนผู้ว่างงาน (พันคน)

514

603

530-590

อัตราการว่างงาน

1.4

1.6

1.4-1.5

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย