Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ธันวาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

แนวโน้มเงินเฟ้อขยับขึ้น ... จับตารัฐบาลตัดสินใจต่ออายุ 5 มาตรการ ? (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2702)

คะแนนเฉลี่ย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในเดือนตุลาคม ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม (Month-on-Month) ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าอาหารบางชนิด เช่น ข้าวและเนื้อสัตว์ ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในเดือนพฤศจิกายนไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน (MoM) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) โดยแม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน แต่ยังคงอยู่ภายนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้ระดับราคาสินค้าในช่วงเดือนสุดท้ายของปีนี้น่าจะค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนน่าจะสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 (YoY) เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 4/2552 เป็นบวกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.9 (YoY) และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 มีค่าเฉลี่ยติดลบร้อยละ 0.8 (ดีขึ้นกว่าประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะติดลบร้อยละ 0.9 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนที่สูงกว่าที่คาด) อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.3 ในปี 2552

สำหรับแนวโน้มในปี 2553 คาดว่าแรงกดดันเงินจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ตามภาวะผลผลิตในประเทศผู้ผลิตรายสำคัญของโลกที่ลดลง ส่วนราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ แม้ขณะนี้ยังค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากทั่วโลกยังคงวิตกกังวลต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หลังเวียดนามมีการปรับลดค่าเงิน และตามมาด้วยกรณีบริษัท Dubai World ขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไป 6 เดือน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกประเภทน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่ง

จากความคาดหวังของนักลงทุนต่อแนวโน้มอุปสงค์ของสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะปรับเพิ่มขึ้น และความต้องการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จึงทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 อาจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.0 และหากในกรณีที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง และรัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เงินเฟ้อมีโอกาสที่จะขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 5.0 จากที่คาดว่าจะติดลบร้อยละ 0.8 ในปี 2552 ส่วนในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5-2.5 จากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในปี 2552

สำหรับประเด็นสำคัญเชิงนโยบายที่ต้องติดตาม ในระยะอันใกล้นี้ ต้องจับตาการตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับ 5 มาตรการ 5 เดือน เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 นี้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รัฐบาลควรใช้แนวทางค่อยๆ ทยอยลดระดับการให้ความช่วยเหลือลง เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะที่เงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาหนึ่งๆ หากมีการยกเลิกมาตรการทั้งหมดในคราวเดียว ส่วนผลของอัตราเงินเฟ้อที่จะมีต่อการดำเนินนโยบายการเงินนั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะมีระดับเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 3.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 แต่ปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ อาจยังกดดันให้เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงมีระดับต่ำ โดยคาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.5 ในช่วงครึ่งปีแรก และยังคงเป็นระดับที่อยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0) ซึ่งน่าจะยังคงเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศสามารถดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.25 ต่อไปได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 แต่มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยจะเริ่มขยับขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจังหวะเวลาและขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงต้องขึ้นอยู่กับระดับอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ รวมทั้งปัจจัยพิจารณาอื่นๆ เช่น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ เป็นสำคัญ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย