Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ธันวาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2552 ได้รับแรงหนุนจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2724)

คะแนนเฉลี่ย

ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนกำลังปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมพลิกขยายตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน อย่างไรก็ตาม การตีความเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายน 2552 หลายตัวที่สามารถพลิกกลับมาขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) นั้น ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการขยายตัวในรูป YoY นั้น ได้รับอานิสงส์สำคัญมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำอันเป็นผลกระทบมาจากเหตุการณ์ปิดสนามบินในเดือนพฤศจิกายน 2551

ทั้งนี้ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่รายงานโดยธปท. ส่วนใหญ่ออกมาดีขึ้นและ/หรือสอดคล้องกับประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมุมมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2/2552 จะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยน่าที่จะพลิกกลับมาเป็นบวกไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.3 (YoY) ในไตรมาส 4/2552 ซึ่งนับเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาส 4/2551) และดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาส 3/2552 และหดตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาส 2/2552 และสำหรับภาพรวมในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี น่าที่จะทำให้อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ไม่มากไปกว่าร้อยละ 3.1 ตามประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศและภายนอกประเทศในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยปัจจัยเสี่ยงภายในที่สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองที่จะส่งผลต่อเนื่องมายังการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่อาจส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ ความมั่นคงในแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ถูกถ่วงด้วยความเปราะบางของตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจเอเชียซึ่งบางประเทศอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวข้างต้นอาจส่งผลทำให้แรงส่งต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 1 ปีข้างหน้ามีความไม่แน่นอนมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย