Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มกราคม 2553

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนธันวาคม และไตรมาส 4 ปี 2552 ... แข็งแกร่งเกินคาด (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2747)

คะแนนเฉลี่ย

ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนธันวาคม 2552 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนการขยายตัวที่กระจายออกไปในภาพที่กว้างขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายๆ ตัวปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นสอดคล้องกัน

การใช้จ่ายภาคเอกชน...สะท้อนสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดขึ้น

การบริโภคภาคเอกชน เดือนธ.ค. 2552 ขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า (MoM) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) โดยการบริโภคขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) ในเดือนธ.ค. ใกล้เคียงกับที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ในเดือนพ.ย. ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น ยังคงอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนหดตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยหดตัวเพียงร้อยละ 2.3 ในเดือนธ.ค. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 6.5 ในเดือนพ.ย.

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูง ขณะที่ รายได้เกษตรกรพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างพร้อมเพรียงกันในทุกหมวด โดยอุตสาหกรรมที่เน้นเพื่อการส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 70.5 ขณะที่ อุตสาหกรรมที่เน้นเพื่อขายในประเทศ ขยายตัวร้อยละ 9.9 ในเดือนธ.ค. ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเร่งตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (ปรับฤดูกาล) เพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 69.1 ในเดือนธ.ค. จากร้อยละ 67.0 ในเดือนพ.ย. ส่วนรายได้เกษตรกรนั้น ได้รับอานิสงส์จากการพุ่งขึ้นของราคาพืชผล โดยรายได้เกษตรกรพลิกกลับมาขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 11.8 ในเดือนธ.ค. หลังจากที่ทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนก่อนหน้า

ดุลการค้าขาดดุลเนื่องจากการนำเข้าเร่งตัวสูง

การส่งออกขยายตัวร้อยละ 26.2 (YoY) ในเดือนธ.ค. หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 17.4 ในเดือนพ.ย. ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ร้อยละ 33.0 (YoY) ในเดือนธ.ค. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 0.3 ในเดือนพ.ย. เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าเร่งตัวสูงขึ้นกว่ามูลค่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าบันทึกยอดขาดดุลที่ระดับ 122 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนธ.ค. เทียบกับที่เกินดุล 1,106 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. อย่างไรก็ดี ดุลบริการฯ สามารถบันทึกยอดเกินดุลสูงถึง 880 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนธ.ค. ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 45.2 ดังนั้น เมื่อรวมดุลการค้าที่ขาดดุลน้อยกว่าการเกินดุลของดุลบริการเข้าด้วยกัน จึงส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงบันทึกยอดเกินดุลต่อเนื่องอีก 758 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนธ.ค. หลังจากที่เกินดุล 1,338 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย.

ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธันวาคม 2552 ที่รายงานโดยธปท. สะท้อนให้เห็นถึงภาพการฟื้นตัวกลับขึ้นมายืนแดนบวกของเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายๆ ตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ทั้งนี้ จากภาพการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่กระจายออกไปในทุกด้านดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยน่าที่จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 3.5 (YoY) ในช่วงไตรมาสที่ 4/2552 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นที่ร้อยละ 2.3 ทั้งนี้ การพลิกกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2552 นี้ นับเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส และดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาส 3/2552 และสำหรับภาพรวมในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีดังกล่าว น่าที่จะทำให้อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 3.1

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย