Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กุมภาพันธ์ 2553

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น อาจกดดันภาวะการบริโภคในปี 2553 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2748)

คะแนนเฉลี่ย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนมกราคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในเดือนธันวาคม และเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 16 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 โดยสาเหตุที่สำคัญเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับขึ้นในเดือนมกราคม รวมทั้งการปรับเงื่อนไข 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงาน ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากร้อยละ 0.2 ในเดือนธันวาคม กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนถัดๆ ไปนั้น ในระยะสั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจชะลอลง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีโอกาสที่จะหลุดออกจากกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. อีกได้ เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนหน้าที่ขยับสูงขึ้นนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลได้ปรับ 6 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยยกเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จึงมีทิศทางชะลอลงกว่าในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อคงเป็นปรากฏการณ์ในระยะสั้น ซึ่งทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงระยะข้างหน้า จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออาจกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี ขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งการตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับการสิ้นสุด 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เป็นสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โดยภาพรวมในปี 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.0-4.0 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5-2.5 สูงขึ้นจากปี 2552 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 0.9 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีระดับสูงในปัจจุบัน (ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางเทคนิคในการคำนวณเงินเฟ้อ และปัจจัยด้านมาตรการอุดหนุนของรัฐ) จะยังไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ และยังไม่ส่งผลกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินในระยะสั้นนี้ แต่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า อาจสร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อภาคครัวเรือน ส่งผลให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคในปีนี้อาจไม่ดีขึ้นกว่าปีก่อนมากนัก แม้ว่ารายได้จะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม ทิศทางดังกล่าวทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การบริโภคของภาคเอกชนอาจฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.5-2.6 ในปี 2553 จากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 1.2 ในปี 2552 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในปี 2552 ที่การบริโภคของภาคเอกชนเคยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.7 (ระหว่างปี 2547-2551)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย