Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มีนาคม 2553

เศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้ออาจชะลอในระยะสั้น แต่คาดว่าจะกลับมาเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2771)

คะแนนเฉลี่ย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ชะลอตัวลงจากที่ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือนที่ร้อยละ 4.1 ในเดือนมกราคม โดยแม้ว่ามีผลของเทศกาลตรุษจีนที่ทำให้ระดับราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (Month-on-Mount) แต่อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงนั้นเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสังเกต คือ ระดับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า (MoM) ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้นมากนัก จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้แม้ว่าต้นทุนเริ่มขยับขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์ ชะลอลงจากร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้า และลงไปอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้ง หลังจากที่กลับเข้ามาสู่กรอบล่างของกรอบเป้าหมายดังกล่าวได้เพียง 1 เดือน

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนถัดๆ ไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอลงเพียงในระยะสั้น แต่จากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่คาด รวมทั้งภาวะแล้งในประเทศที่มีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจยิ่งเป็นแรงผลักดันราคาสินค้าเกษตร จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโอกาสที่จะกลับมาเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ขณะที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระยะแรกของช่วงขาขึ้น แม้ภายในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงมีระดับที่ไม่สูงนักโดยคากว่าไม่เกินร้อยละ 1.5 แต่มีแนวโน้มที่จะเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และมีโอกาสเข้าใกล้กรอบบนของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 มากขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2553 ไว้ที่ระดับเดิม โดยเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพส่วนใหญ่ออกไปถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อลงได้ในระดับหนึ่ง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.0-4.0 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5-2.5 สูงขึ้นจากปี 2552 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 0.9 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นดังกล่าว คงจะมีนัยและมีผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของทางการในหลายด้าน ทั้งนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และการตัดสินใจของรัฐบาลต่อการดำเนินมาตรการอุดหนุนราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภค ทั้งนี้ หากทิศทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น การทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการที่อุดหนุนเป็นการพิเศษลงก็น่าจะทำได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนัก แต่หากเกิดสถานการณ์ที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องสะดุดหรือชะลอลงไป การพิจารณาถอนมาตรการเศรษฐกิจอาจต้องเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบากมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย