Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 เมษายน 2553

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อครึ่งปีแรก ... ยังไม่สร้างแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2791)

คะแนนเฉลี่ย

จากการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อโดยกระทรวงพาณิชย์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงในเดือนมีนาคม 2553 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) จากร้อยละ 3.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ระดับราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าไม่มากนัก รวมทั้งยังเป็นผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อน สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ในเดือนมีนาคมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 (YoY) จากร้อยละ 0.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งยังคงอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 สำหรับภาพรวมในไตรมาสที่ 1/2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.4

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงชะลอต่อไปในเดือนเมษายน เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีระดับต่ำ แม้ว่าอาจจะเริ่มกลับเข้ามาสู่ภายในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธปท. แต่คงมีระดับสูงกว่าร้อยละ 0.5 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น สะท้อนถึงแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าที่ยังมีค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางเงินเฟ้อ ได้แก่ ทิศทางราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ทิศทางราคาสินค้าเกษตรของไทย และนโยบายของรัฐบาลในการดูแลราคาสินค้า รวมทั้งการช่วยเหลือด้านราคาสาธารณูปโภคและพลังงาน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 ไว้อยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.0 แต่ปรับกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้แคบลงเป็นร้อยละ 1.5-2.0 โดยเป็นการขยับกรอบบนลงมาจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 1.5-2.5 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอาจมีผลต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ผลิตพยายามปรับราคาสินค้าในขอบเขตเท่าที่จำเป็น รวมทั้งมีผลของการที่รัฐบาลคงมาตรการช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคในหลายส่วน

ดยสรุป จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงไม่สูงนักในระยะอันใกล้นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ปัจจัยด้านเงินเฟ้อเพียงลำพัง ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจของทางการมากนักในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้น ในการกำหนดทิศทางนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการเงิน คงมีการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย โดยหากมองปัจจัยในด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดได้บ่งชี้การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งกว่าที่คาดในช่วง 2 เดือนแรก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของภาครัฐส่วนใหญ่ รวมทั้ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มมุมมองในเชิงบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2553 แต่ต้องยอมรับว่าทุกฝ่ายต่างตระหนักดีว่าสถานการณ์ทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป และอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจในเชิงนโยบายของทางการที่จะไม่เร่งรีบถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องไปได้ อย่างไรก็ตาม ทิศทางอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลทำให้ ในที่สุดแล้ว ทิศทางอัตราดอกเบี้ยคงจะเริ่มหันกลับไปสู่ทิศทางขาขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย