Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 เมษายน 2553

เศรษฐกิจไทย

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนมี.ค. และไตรมาสแรกแข็งแกร่ง ... แต่ผลกระทบจากปัญหาการเมืองจะปรากฏชัดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2816)

คะแนนเฉลี่ย

ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนมีนาคม 2553 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนถึง โมเมนตัมของการขยายตัวอย่างเข้มแข็งในเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย นำโดย การบริโภคภาคเอกชน (ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง) การลงทุนภาคเอกชน (ที่ฟื้นไปอยู่เหนือระดับก่อนวิกฤต) การผลิตภาคอุตสาหกรรม (ที่มีระดับการผลิตที่สูงเป็นประวัติการณ์) และการส่งออก (ที่เติบโตไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอานิสงส์ของกรอบเอฟทีเอ) และสำหรับภาพรวมในไตรมาส 1/2553 นั้น เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่มีทิศทางที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยได้รับอานิสงส์สำคัญจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.7 (เทียบกับร้อยละ 2.3 ในไตรมาส 4/2552) การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 18.2 (เร่งจากที่หดตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 4/2552) ขณะที่ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกขยายตัวสูงร้อยละ 30.8 และร้อยละ 32.0 ตามลำดับ (เป็น 2 เท่าจากที่ขยายตัวร้อยละ 14.2 และร้อยละ 12.2 ในไตรมาส 4/2552 ตามลำดับ) ทั้งนี้ จากโมเมนตัมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ปรากฏขึ้นดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้สูงกว่ากรอบประมาณการเดิมที่มองไว้ร้อยละ 8.0-9.0 (YoY) ในไตรมาส 1/2553 ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ในไตรมาส 4/2552

อย่างไรก็ดี คาดว่า ปัจจัยการเมืองที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนเม.ย. 2553 น่าที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย-บรรยากาศของการบริโภค การลงทุนภาย และภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งอาจทำให้เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มสะดุดลงในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 แม้ว่าแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกจะยังคงทำหน้าที่ได้ดีก็ตาม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพในเบื้องต้นว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค. 2553 นั้น อาจส่งผลทำให้จีดีพีในไตรมาส 2/2553 หดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก (QoQ) และสำหรับภาพทั้งปี 2553 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในกรณีที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการปัญหาทางการเมืองให้จบได้ภายในครึ่งแรกของปี 2553 ผลกระทบของความเสี่ยงทางการเมืองอาจบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 0.5 แต่มูลค่าความสูญเสียในกรณีเลวร้ายที่สุด อาจสูงถึงประมาณร้อยละ 2.0 หากปัญหาการเมืองในประเทศปานปลาย รุนแรง และยืดเยื้อตลอดทั้งปี 2553 ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินผลกระทบของกระทรวงการคลัง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย