Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 พฤษภาคม 2553

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อครึ่งหลังปี 2553 มีแนวโน้มสูงขึ้น แม้วิกฤตการเมืองฉุดอุปสงค์ในประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2817)

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะเงินเฟ้อในปี 2553 มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แม้ว่านับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลง โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ชะลอลงจากร้อยละ 3.4 ในเดือนมีนาคม ยังคงชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากที่ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือนที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันแรงกดดันราคาที่มาจากด้านอุปสงค์ในประเทศในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีอาจลดน้อยลง เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองต่อภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แรงกดดันราคาที่มาจากด้านอุปทาน กล่าวคือ แนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2553

ที่ผ่านมา การบริโภคของภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยคาดว่าอาจมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ประมาณร้อยละ 3.9 ในไตรมาสที่ 1/2553 แต่เหตุการณ์รุนแรงและความไม่แน่นอนทางการเมืองจะสร้างความเสี่ยงและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศในระยะข้างหน้า ทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน และอาจรวมไปถึงการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีโอกาสชะลอตัวนี้ อาจเป็นปัจจัยลบที่จะส่งผลให้ภาวะการบริโภคชะลอลงในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2553 อยู่ระหว่างร้อยละ 3.0-4.0 สูงขึ้นจากปี 2552 ที่ติดลบร้อยละ 0.9 ใน ขณะที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5-2.0 สูงขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในปี 2552 โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยด้านอุปทาน เป็นสำคัญ

ทิศทางราคาสินค้าและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกนัยเชิงนโยบายว่า ในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวต่อเนื่องต่อไปได้นั้น การดำเนินนโยบายของทางการในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการดูแลเสถียรภาพกำลังซื้อของประชาชนอาจยังมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย ซึ่งเผชิญปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัวจากปัญหาทางการเมือง ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และกำลังทยอยลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย