Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 พฤษภาคม 2553

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย...เริ่มสะท้อนผลกระทบจากปัญหาการเมือง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2833)

คะแนนเฉลี่ย

ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนเมษายน 2553 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนถึง ภาวะการชะลอลงของเครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายภาคส่วนท่ามกลางปัญหาการเมืองที่เพิ่มระดับความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยการบริโภคภาคเอกชน (-0.9%) และการผลิตภาคอุตสาหกรรม (-2.0%) พลิกกลับมาหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า (MoM) ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชน (+1.3%) แม้จะขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอตัวลง ส่วนในด้านความเชื่อมั่นภาคเอกชนในเดือนเมษายนนั้น สะท้อนภาพของการถดถอยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกันของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (สู่ระดับ 75.0) และการดิ่งลงเป็นรายเดือนที่มากเป็นประวัติการณ์ของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (สู่ระดับ 46.0)

สำหรับในภาคต่างประเทศนั้น มูลค่าการส่งออก (-2.5%) และการนำเข้า (-7.5%) หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยงต่างชาติหดตัวลงอย่างรุนแรงจากเดือนก่อน (-18.0%) โดยได้รับผลกระทบโดยตรงจากความไม่สงบของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ลดลงค่อนข้างมากในเดือนเมษายนได้ส่งผลให้ดุลการค้าบันทึกยอดขาดดุลที่ระดับ 190.5 ล้านดอลลาร์ฯ หลังจากที่เกินดุลประมาณ 1,089.9 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมีนาคม และเมื่อรวมดุลการค้าที่ขาดดุลดังกล่าวเข้ากับยอดขาดดุล 232.1 ล้านดอลลาร์ฯ ในส่วนของดุลบริการฯ จึงส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือนที่ 422.6 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเมษายน

โดยสรุป หลังจากที่เครื่องชี้เศรษฐกิจทางด้านความเชื่อมั่นของภาคเอกชนได้ปรับตัวสะท้อนถึงผลกระทบของปัจจัยลบทางด้านการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 1/2553 มาแล้วนั้น ณ ขณะนี้ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน 2553 ของธปท. เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่า เศรษฐกิจไทยย่างเข้าสู่ไตรมาสที่ 2/2553 พร้อมๆ กับความเสี่ยงทางการเมืองซึ่งมีนัยสำคัญมากขึ้นต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบจากความเสี่ยงทางการเมืองที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (การใช้จ่ายภายในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว) อย่างมากในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 น่าที่จะทำให้เส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยสะดุดลงในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของไตรมาส 2/2553 โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 5.0 จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, s.a.) หรือขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่กรอบร้อยละ 2.5-3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) หลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 (YoY) ในช่วงไตรมาส 1/2553 ซึ่งก็จะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 7.3-7.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โดยปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะถัดไปก็คือ ประสิทธิผลของมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง และความพยายามในการเร่งพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงการกระจายตัวของวิกฤตหนี้ภาครัฐของบางประเทศในยูโรโซน และภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางการขยายตัวของการส่งออกของไทยในระยะถัดๆ ไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย