Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มิถุนายน 2553

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนพ.ค...สะท้อนผลกระทบทางการเมืองที่จำกัด(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2864)

คะแนนเฉลี่ย
ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2553 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนถึง ผลกระทบที่เบาบางลงของปัจจัยทางการเมืองที่มีต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ (อัตราการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชนน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ การลงทุนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง) แต่สร้างแรงกดดันที่มากขึ้นต่อภาคการท่องเที่ยว (จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงร้อยละ 27.5 จากเดือนก่อนหน้า) และการผลิตภาคอุตสาหกรรม (หดตัวร้อยละ 3.9 จากเดือนก่อนหน้า) อย่างไรก็ดี การขยายตัวของภาคการส่งออกยังคงมีสัญญาณแข็งแกร่งกว่าที่คาด และทำให้ดุลการค้าสามารถพลิกกลับมาบันทึกยอดเกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ขาดดุล 190.4 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเมษายน
คงต้องยอมรับว่า พัฒนาการที่ดีขึ้นของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคมดังกล่าว และการขยายอย่างตัวแข็งแกร่งของภาคการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเชิงบวกที่ดีกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงหน้า และทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2553 อาจมีอัตราการหดตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 3.3-3.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, s.a.) ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการเบื้องต้นที่คาดว่าจะหดตัวลงถึงร้อยละ 5.0 สำหรับภาพรวมในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 ขึ้นเป็นร้อยละ 4.0-6.0 จากเดิมที่ร้อยละ 2.6-4.5 เนื่องจาก การขยายตัวสูงของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/2553 และภาคการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่ คาดว่า เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะถูกผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภายหลังจากที่ความเสี่ยงทางการเมืองได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในกลุ่ม G-3 และจีน ที่อาจกดดันให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย