Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 สิงหาคม 2553

เศรษฐกิจไทย

แม้เงินเฟ้อทั่วไปค่อนข้างทรงตัวในไตรมาส 3/2553 ... แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงขยับขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2896)

คะแนนเฉลี่ย

จากการที่ระดับราคาสินค้าทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2553 โดยเฉพาะราคาในหมวดอาหาร ยังคงมีทิศทางขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแต่ในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่ ระดับราคาในหมวดพลังงานไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นมากนักในระหว่างเดือน ซึ่งส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2553 เพิ่มขึ้นน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เพียงร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงรักษาทิศทางการขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับร้อยละ 1.2 ตามคาด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้ผลจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงในช่วง 1-3 เดือนหลังจากนี้ และก็น่าที่จะทำให้ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 3/2553 มีระดับที่ค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2/2553 ที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็ดี คาดว่า แนวโน้มการขยับขึ้นเดือนต่อเดือนของระดับราคาสินค้าโดยรวมทั้งในส่วนของราคาในหมวดอาหารและพลังงาน น่าที่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว และนำไปสู่การขยับขึ้นอีกครั้งของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงปลายปี 2553 ส่วนทิศทางของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนับจากนี้จนถึงสิ้นปี 2553 อาจให้ภาพที่แตกต่างไปจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเล็กน้อย โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าที่จะทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าหาระดับร้อยละ 1.5 (YoY) ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3/2553 และเข้าใกล้ร้อยละ 2.0 (YoY) ในช่วงปลายปี 2553

แม้ว่ารัฐบาลจะขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าจากผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมทั้งขยายอายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและราคาพลังงานออกไปอีก 6 เดือน แต่ยังคงมีหลากหลายปัจจัยที่สนับสนุนการปรับขึ้นของระดับราคาสินค้าโดยรวมในช่วงเวลาที่เหลือของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าในหมวดอาหารที่น่าจะได้รับแรงผลักดันจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวน และเทศกาลกินเจในช่วงเดือนแรกๆ ของไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ขณะที่ ราคาในหมวดพลังงาน อาจทยอยไต่ระดับขึ้นได้ตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทั้งนี้ ภาพของแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2553 และมีโอกาสเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2554 น่าที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธปท.ต้องดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้เริ่มวัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินไปแล้วในการประชุมเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเครือธนาคารกสิกรไทยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นสู่ระดับร้อยละ 2.0 ภายในสิ้นปี 2553 นี้ อย่างไรก็ดี คาดว่า แนวทางการคุมเข้มทางการเงินดังกล่าว อาจมีลักษณะที่ค่อนข้างระมัดระวังท่ามกลางการประเมินความเสี่ยงของผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยเป็นระยะๆ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย