Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 สิงหาคม 2553

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง ปี 53 : อาจชะลอเหลือ 3.3% จาก 10.6% ในครึ่งปีแรก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2915)

คะแนนเฉลี่ย
แม้ต้องเผชิญกับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 ยังสามารถรักษาความต่อเนื่องของการฟื้นตัวไว้ได้ดีกว่าที่คาด โดยจีดีพีที่ปรับฤดูกาลยังคงเติบโตเป็นบวกร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonal Adjusted Quarter-on-Quarter) ขณะเดียวกัน อัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ยังคงสูงถึงร้อยละ 9.1 (Year-on-Year) ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.6 สูงเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย รองจากสิงคโปร์ ไต้หวันและจีน
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางอาจส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวลงมาก ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลให้รายได้เงินตราต่างประเทศที่แปลงเป็นเงินบาทมีมูลค่าน้อยลง ประกอบกับวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจกดดันการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากการเมืองมีเสถียรภาพก็น่าจะเป็นพื้นฐานให้ธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว ค้าปลีก บันเทิง และธุรกิจบริการอื่นๆ มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องต่อไปได้
จากทิศทางดังกล่าวนี้ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 3.3 (YoY) หรือต่ำกว่านั้น และอัตราการขยายตัวของทั้งปี 2553 อาจอยู่ที่ประมาณ 6.2-6.8 ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์การเมืองที่ไม่ปกติเกิดขึ้น
สำหรับปี 2554 คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 3.0-4.0 เป็นการชะลอตัวจากฐานที่สูง และเป็นทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม โดยเศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตในจังหวะที่ค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไร้มาตรการกระตุ้นพิเศษ หลังจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และการคุมเข้มนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อีกทั้งประเทศพัฒนาแล้วทั้งยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางการคลังมากขึ้น ขณะเดียวกันผลกระตุ้นจากกรอบการค้าเสรีในปีหน้าคงไม่มีกรอบที่ลดภาษีลงอย่างกว้างขวางมากเท่ากับในปีนี้ จึงทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกในปี 2554 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 6.0-10.0 แต่คาดว่าการลงทุนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น หากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐมีความคืบหน้า รวมทั้งปัญหามาบตาพุบคลี่คลายลงทำให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่เดินหน้าได้ โดยคาดว่าการลงทุนอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 7.5-9.3 ในปี 2554 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.1-8.8 ในปี 2553 ทั้งนี้ แม้ในปี 2554 เศรษฐกิจอาจจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง แต่เป็นการเติบโตที่น่าจะกระจายไปสู่ภาคเศรษฐกิจหลากหลายกลุ่มอย่างทั่วถึงมากขึ้น จากที่ในระยะที่ผ่านมาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอาศัยภาคการส่งออกเป็นหลัก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย