Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กันยายน 2553

เศรษฐกิจไทย

แม้เงินเฟ้อค่อนข้างทรงตัวในระยะนี้...แต่มีโอกาสเร่งตัวสูงขึ้นในไตรมาส 4 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2923)

คะแนนเฉลี่ย

ารเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2553 มาที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) นั้น เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณส่วนหนึ่งที่สะท้อนการชะลอลงของโมเมนตัมทางเศรษฐกิจเมื่อเข้าสู่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 สำหรับทิศทางของเงินเฟ้อในระยะที่เหลือของปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน น่าจะมีทิศทางทรงตัวในช่วงไตรมาส 3/2553 ก่อนจะปรากฎภาพของแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2553 อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะที่มีการแข่งขันสูง ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของแนวโน้มเงินเฟ้อดังกล่าวลงได้บางส่วน

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 เป็นช่วงจังหวะที่ระดับราคาสินค้าอาจได้รับแรงผลักดันจากหลากหลายปัจจัยพร้อมกัน อาทิ เทศกาลกินเจ และผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะที่ การทยอยลดการขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าบางรายการของกระทรวงพาณิชย์ ก็อาจหนุนทิศทางเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ แม้ว่าราคาในหมวดอุปโภคบริโภค จะยังคงได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็คงไม่อาจปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะเกิดการทยอยส่งผ่านจากราคาที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่แท้จริงมายังราคาสินค้าผู้บริโภคบ้างไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ คงต้องจับตาปัจจัยทางเทคนิคของเงินเฟ้อจากการปรับปรุงตะกร้าสินค้าที่ใช้ในการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคโดยกระทรวงพาณิชย์ด้วยเช่นกัน

ภาพของแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า น่าที่จะเป็นสถานการณ์สำคัญที่ทำให้ธปท.ยังคงมีความจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น โดยเครือธนาคารกสิกรไทย คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่ธปท.อาจพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.0 ในการประชุมเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนั้น นอกจากจะถูกกำหนดจากปัจจัยด้านเงินเฟ้อแล้ว คาดว่า ธปท.อาจจะพิจารณาให้น้ำหนักต่อปัจจัยด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น หากเครื่องชี้เศรษฐกิจยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องในเดือนถัดๆ ไป หลังจากตัวเลขล่าสุดในเดือนกรกฎาคมเริ่มปรากฎภาพการอ่อนแรงลงของการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศแล้ว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย