Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ตุลาคม 2553

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อเดือนก.ย. ต่ำกว่าคาด...คลายความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อระยะสั้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2947)

คะแนนเฉลี่ย

ภาพรวมของรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกันยายน 2553 สะท้อนว่า แรงกดดันในช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อไทยนั้น มีทิศทางที่อ่อนลงค่อนข้างมาก โดยแม้ว่าในช่วงระหว่างเดือนราคาสินค้าในหมวดอาหารจะมีการขยับขึ้น แต่ราคาในหมวดที่มิใช่อาหารที่ลดลงก็ถ่วงให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนก.ย. มีระดับที่ลดลงจากเดือนก่อนป็นครั้งแรกในปีนี้ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ย. ลดลงร้อยละ 0.07 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) และเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.0 จากปีก่อน (YoY) ซึ่งต่ำลงจากร้อยละ 3.3 ในเดือนส.ค. และอาจเป็นภาวะที่สะท้อนว่า การปรับขึ้นของระดับราคาของผู้ประกอบการค่อนข้างมีความหนืดภายใต้แนวโน้มตลาดผู้บริโภคที่อาจจะชะลอตัวลง ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนก.ย. ยังคงค่อนข้างทรงตัว (MoM) แต่ลดต่ำลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 (YoY) เทียบกับร้อยละ 1.2 ในเดือนส.ค.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางของเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ การปรับแข็งค่าขึ้นของเงินบาท รวมถึงโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่น่าจะชะลอลงในระยะข้างหน้า น่าจะทำให้กรอบประมาณการสำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลดลงมาอยู่ระหว่างร้อยละ 3.3-3.5 จากกรอบร้อยละ 3.2-3.7 ที่คาดไว้เดิม ขณะที่ ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2553 ก็อาจลดลงมาอยู่ในกรอบร้อยละ 0.8-1.0 จากกรอบเดิมที่ร้อยละ 1.0-1.4 ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำกว่าที่คาด และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ค่อนข้างทรงตัวตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ตลาดผู้บริโภคยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และทำให้ผู้ประกอบการยังตรึงราคาสินค้าไว้อยู่ ซึ่งก็เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับภาวะการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และอาจบ่งชี้ว่า ความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้ออาจจะผ่อนคลายลงบ้างในระยะสั้น กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสำหรับในปี 2554 น่าที่จะทยอยขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจมีจุดสูงสุดของปีในช่วงไตรมาส 3/2554 ซึ่งก็ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงกดดันในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าว น่าจะเป็นนัยว่าการดำเนินการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ขึ้นสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น ยังไม่น่าจะสิ้นสุดลงหลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม 2 รอบล่าสุดมาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ในขณะนี้ โดยปัจจัยที่อาจกำหนดทิศทางเงินเฟ้อในช่วงรอยต่อสิ้นปีนี้และต้นปีหน้า ได้แก่ ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก การทยอยปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในช่วงต้นปี และการหมดอายุของมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาล การตรึงราคาก๊าซ LPG ก๊าซ NGV รวมถึงการดูแลราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งคาดว่า รัฐบาลอาจมีการพิจารณาต่ออายุบางมาตรการออกไปอีก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย