Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 ธันวาคม 2553

เศรษฐกิจไทย

ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ : ข่าวดีสำหรับผู้ใช้แรงงาน ... แต่ภาครัฐและเอกชนยังมีโจทย์ท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไข (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3003)

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างกลางได้มีมติการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 11 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.3 (เป็นระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเล็กน้อย) ซึ่งนับเป็นข่าวดีต่อผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้บริโภคกำลังต้องเผชิญกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายรายการได้ปรับตัวสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า นอกจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของลูกจ้างแรงงานให้ดีขึ้นแล้ว รัฐบาลยังได้มีแนวคิดที่จะปรับปรุงระบบสวัสดิการของลูกจ้างแรงงางานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างแรงงานนอกระบบ ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เช่น เรื่องของการรักษาพยาบาลและค่าชดเชยเมื่อเจ็บป่วย เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี ภาครัฐและภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้ายมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยในระยะสั้นนอกจากปัญหาสวัสดิการแรงงานของลูกจ้างแล้ว ในมุมมองของภาคธุรกิจปัญหาที่มีความกังวล คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนแรงงานที่สูงกว่าบางประเทศในภูมิภาค ซึ่งการที่ธุรกิจไทยจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะข้างหน้า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งรัฐบาลอาจต้องมีการวางแผนนโยบายเชิงรุกในการพัฒนาศักยภาพตลาดแรงงานไทย โดยเร่งพัฒนาบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น การพัฒนาองค์ความรู้สู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อที่จะสร้างฐานกำลังแรงงานในประเทศให้แข็งแกร่ง สำหรับในระยะปานกลางถึงระยะยาว เพื่อที่จะรักษาแรงงานที่มีฝีมือไว้กับองค์กรภาครัฐและเอกชนควรจัดระบบสวัสดิการแรงงานให้จูงใจมากขึ้น เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือไปยังต่างประเทศที่อาจจะมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานตามกรอบ AEC ในปี 2558 รวมถึงการเตรียมพร้อมต่อการเปิดเสรีแก่แรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในไทยในบางสาขาอาชีพ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย