Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 ธันวาคม 2553

เศรษฐกิจไทย

มาตรการค่าครองชีพ ค่าจ้าง และแนวทางดูแลราคาพลังงาน :นัยต่ออัตราเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยไทยปี 2554 (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2233)

คะแนนเฉลี่ย

จากข้อมูลประมาณการของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และศูนย์วิจัยกสิกรไทย ล้วนสะท้อนการคาดการณ์ในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า แรงกดดันของเงินเฟ้อไทยอาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2554 ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงต้นทุนราคาพลังงานของผู้ประกอบการ รัฐบาลจึงได้วางแนวทางช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่สำคัญในระยะสั้นไว้หลายมาตรการ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การขยายเวลาสำหรับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนอาจช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 ลงได้ประมาณร้อยละ 1.0 โดยอัตราเงินเฟ้ออาจมีค่าเฉลี่ยพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เทียบกับกรณีฐานที่ร้อยละ 3.3

สำหรับผลของการปรับขึ้นค่าจ้างตามมติของครม.นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.65 แต่ผลที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 1/2554 อาจไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ น่าที่จะทำให้ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 1/2554 อยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 4/2553 ที่ราวร้อยละ 2.9 ส่วนมาตรการดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้ไม่เกินระดับ 30 บาทต่อลิตรนั้น นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลค่อนข้างมาก แม้ว่ารัฐบาลจะใช้กลไกการรับภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้นได้ แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปี 2554 ปรับเพิ่มขึ้นไปยืนเหนือระดับ 90 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลต่อเนื่องยาวนาน กลไกการรับภาระของกองทุนน้ำมันก็อาจไม่เพียงพอที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ในระยะที่ยาวนานนัก ซึ่งท้ายในที่สุดแล้ว การที่จะรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ก็อาจเป็นไปได้ยากมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับปี 2554 ที่ร้อยละ 2.5-4.0 (ค่ากลางที่ร้อยละ 3.3) และกรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสำหรับปี 2554 ที่ร้อยละ 1.8-3.0 (ค่ากลางที่ร้อยละ 2.3) ยังคงสามารถรองรับผลที่สืบเนื่องมาจากการผลักดันมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และการดูแลทิศทางราคาพลังงานในประเทศของภาครัฐได้ โดยมองว่า การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จะส่งผลช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อลงบางส่วน แต่กระนั้นก็ดี แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2554 ยังคงเป็นขาขึ้น ซึ่งย่อมจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อดูแลประเด็นทางด้านเสถียรภาพราคายังน่าที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เป็นอย่างน้อย โดยเครือธนาคารกสิกรไทย คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าที่จะขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 2.50 ภายในช่วงกลางปี 2554 จากระดับร้อยละ 2.00 ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามประเด็นเชิงนโยบายของภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถบรรเทา และ/หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องค่าครองชีพของประชาชนและราคาพลังงาน (ทั้งในส่วนของน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติ) ได้ในระยะสั้น แต่การวางแนวทางการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาพลังงานหลายรายการในประเทศ ก็นับเป็นโจทย์ระยะกลาง-ยาวที่ท้าท้ายไม่น้อย เนื่องจากประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ต้องการแนวโยบายที่มีความชัดเจน และยังอาจผูกโยงไปกับประเด็นเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาลในระยะถัดๆ ไปอีกด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย