Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ธันวาคม 2553

เศรษฐกิจไทย

เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนพ.ย. 2553...ทั้งการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออกมีทิศทางดีขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3019)

คะแนนเฉลี่ย

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนพ.ย. 2553 สะท้อนถึงทิศทางการฟื้นตัวขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในหลายภาคส่วนหลังจากที่กิจกรรมเหล่านี้ต้องหยุดชะงักลงบางส่วนในเดือนต.ค. จากผลกระทบของภาวะน้ำท่วมครั้งร้ายแรงของไทย ทั้งนี้ เครื่องชี้การบริโภค-การลงทุนภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม ผลผลิตทางการเกษตร และการส่งออก พลิกกลับมาขยายตัวได้อย่างพร้อมเพรียงกันอีกครั้ง ซึ่งหากการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออกได้รับแรงหนุนต่อเนื่องในช่วงเดือนธ.ค.จากเทศกาลปีใหม่แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า โมเมนตัมที่ดีขึ้นของทิศทางดังกล่าว อาจช่วยหนุนให้จีดีพีในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 (YoY) ซึ่งแม้จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.0 แต่ก็ยังคงอยู่ในเส้นทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2/2553

สำหรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงกรอบประมาณการเดิมสำหรับปี 2554 ไว้ที่ร้อยละ 3.5-4.5 อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า มุมมองที่เป็นเชิงบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และคู่ค้าที่สำคัญในเอเชียของไทย อาจช่วยหนุนให้ภาคการส่งออกของไทยยังคงมีแรงหนุนอย่างต่อเนื่องในช่วงปีข้างหน้า แม้แนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจะเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยากก็ตาม นอกจากนี้ คงต้องจับตาชุดมาตรการภายใต้โครงการเร่งรัฐปฏิบัติการเพื่อคนไทยที่จะทยอยประกาศออกมาในช่วงต้นปี 2554 ซึ่งคาดว่า อาจส่งผลช่วยลดภาระค่าครองชีพ และกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะติดตามแนวทางของภาครัฐดังกล่าว ก่อนที่จะพิจารณาปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2554 อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องประคับประคองในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็คือ บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนของภาคเอกชนที่อาจผูกโยงกับเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ขณะที่ ประเด็นเศรษฐกิจต่างประเทศที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการจับทิศทางในช่วง 1 ปีข้างหน้า ก็คือ มุมมองที่เป็นเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจขยายตัวดีขึ้นจากผลของการขยายอายุมาตรการทางภาษีสมัยประธานาธิบดีบุช และความราบรื่นของการชะลอแรงกดดันเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ของทางการจีน ว่าจะปรากฏขึ้นในความเป็นจริงหรือไม่ ขณะที่ ทิศทางราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้นก็อาจส่งผ่านมาสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อ และทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตเพิ่มสูงขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย