Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 มกราคม 2554

เศรษฐกิจไทย

เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนธ.ค. อาจบ่งชี้ GDP ไตรมาส 4/2553 ที่สูงกว่าคาด แต่ต้องจับตาความเสี่ยงเงินเฟ้อ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3035)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2553 ยังคงรักษาโมเมนตัมการขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายรายการ อาทิ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน มีทิศทางชะลอลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี ทั้งนี้ ภาพการชะลอตัวของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายด้าน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินว่า เส้นทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 แม้ว่าภาพรวมของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัว จะออกมามีทิศทางแข็งแกร่งกว่าที่คาด และน่าที่จะทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ในช่วงไตรมาส 4/2553 และภาพรวมทั้งปี 2553 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2554 ก็ยังน่าจะอยู่ในเส้นทางของการชะลอตัวต่อเนื่อง โดยจะต้องจับตาตัวแปรหลายตัว อาทิ สถานการณ์การเมืองในประเทศ การเร่งขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อ ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นตัวกำหนดจุดวกกลับและจังหวะการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2/2554 เป็นต้นไป อนึ่ง ความเสี่ยงสำคัญสำหรับทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปี 2554 นี้ คือ ;แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น” ซึ่งหากเงินเฟ้อทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว อาจไม่เพียงจะมีผลต่อเนื่องมากำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ (รวมทั้งธปท.) แต่ยังอาจเป็นตัวแปรที่ย้อนกลับมาฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในระยะข้างหน้าอีกด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย