Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 กุมภาพันธ์ 2554

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 54 ... อาจขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสก่อน แต่ด้วยฐานที่สูง จีดีพีอาจโตได้เพียง 2% YoY (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3045)

คะแนนเฉลี่ย

- เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมามีแรงส่งให้ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด โดยมีปัจจัยบวกสำคัญจากการส่งออกที่เร่งตัวขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งอานิสงส์จากปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ได้เข้ามาช่วยลดผลกระทบจากภาวะอุทกภัย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 4/2553 น่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Quarter-on-Quarter ปรับฤดูกาล) หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมา 2 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2553 ขณะที่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการขยายตัวของจีดีพีน่าจะมีระดับไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.5 (Year-on-Year) ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2553 เติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7.8 จากที่หดตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย

- ย่างเข้าไตรมาสแรกของปี 2554 ภาพเศรษฐกิจต่างประเทศยังคงสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และประเทศขนาดใหญ่ในยุโรป เมื่อผนวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง น่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2554 อาจขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ ปรับฤดูกาล) ตามการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ หลังผ่านพ้นช่วงอุทกภัย แต่ด้วยผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อน คงทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังคงชะลอตัวลงมาอยู่ไม่เกินร้อยละ 2.0 (YoY)

- อย่างไรก็ตาม ทิศทางราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ในตลาดโลกที่ทะยานสูงเกินคาดทะลุ 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล จากปัญหาความไม่สงบในอียิปต์ อาจสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ จากปัจจุบันเงินเฟ้อของหลายประเทศในเอเชียและยูโรโซนได้สูงเกินกรอบเป้าหมายของทางการไปแล้ว และหากพัฒนาการของแรงกดดันเงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้นอาจกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในระยะต่อไป

- จากทิศทางเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตในระดับที่ดีในปี 2554 นี้ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังมีปัจจัยสนับสนุนจากลงทุนและมาตรการเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นของรัฐบาล รวมทั้งการบริโภคของภาคเอกชนก็ยังมีแรงหนุนจากการจ้างงานและการปรับเพิ่มค่าจ้างเงินเดือน ซึ่งอาจลดทอนผลกระทบของค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้บ้าง โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2554 อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-5.0 ซึ่งแม้ชะลอลงมากจากปีก่อนหน้า แต่ก็นับเป็นระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ดี ต้องจับตา 2 ปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ เงินเฟ้อและความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจกระทบต่อความต่อเนื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย