Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กุมภาพันธ์ 2554

เศรษฐกิจไทย

ราคาอาหาร น้ำมัน และทิศทางการเมือง ... ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี 2554 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3046)

คะแนนเฉลี่ย
- เศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 15 ปีที่อัตราร้อยละ 7.8 นับเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตสูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชีย รองจาก สิงคโปร์ (14.5) ไต้หวัน (10.5) และจีน (10.3) ซึ่งจากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพีของไทยในช่วงไตรมาสที่ 4/2553 ขยายตัวดีขึ้นหากมองเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Quarter-on-Quarter ปรับฤดูกาล) หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 4/2552 อัตราการขยายตัวของจีดีพียังคงชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (Year-on-Year) เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่สูง
- ภาพในลักษณะดังกล่าวน่าจะยังคงปรากฏต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1/2554 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 1/2554 อาจจะขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 1.4-1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ ปรับฤดูกาล) แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว จีดีพีอาจขยายตัวเพียงเล็กน้อยในอัตราประมาณร้อยละ 1.6-2.0 (YoY) เนื่องจากต้องเปรียบเทียบกับฐานในไตรมาสที่ 1/2553 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วที่สุดในรอบ 15 ปี (ที่ร้อยละ 12 YoY)
- สำหรับภาพรวมในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0-5.0 โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า แต่เศรษฐกิจยังคงได้แรงขับเคลื่อนจากปัจจัยภายในประเทศ นำโดยการลงทุนโดยรวมและการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยหนุนการจ้างงานและการบริโภคตามมา แต่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้คือปัจจัยด้านราคาอาหาร ราคาน้ำมัน และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งในส่วนของราคาอาหารและพลังงาน ด้วยอุปสงค์ที่ขยายตัวก็เป็นตัวแปรที่ผลักดันให้ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่แล้ว แต่ยิ่งหากมีปัจจัยที่ไม่ปกติ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือขยายขอบเขตและยืดเยื้อยาวนานออกไป จะยิ่งเป็นแรงส่งให้ราคาอาหารหรือราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายกว่ากว่าที่คาดคิดไว้ ทั้งภาวะเงินเฟ้อและทิศทางเศรษฐกิจ ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการเผชิญภาวะ Stagflation ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยราคาอาหารแพงจะกระทบต่อประชาชนทุกระดับ ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ซึ่งในกรณีของไทย หากโครงสร้างการส่งผ่านราคาเป็นไปตามกลไกปกติ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ดอลลาร์ฯ จะทำให้จีดีพีหายไปถึงร้อยละ 1 อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ทางการของไทยยังคงมีมาตรการควบคุมดูแลราคาสินค้าและมีการอุดหนุนราคาพลังงาน ผลที่ส่งต่อไปถึงตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจคงไม่สูงเท่าสัดส่วนดังกล่าว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากรัฐบาลยังคงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและการตรึงราคาพลังงานต่อไปตลอดทั้งปี 2554 ทางการอาจต้องใช้วงเงินสนับสนุนถึง 50,000-80,000 ล้านบาท หรืออาจสูงกว่านั้นหากราคาพลังงานสูงเกินระดับที่คาดการณ์ไว้ และเงื่อนไขมาตรการยังเป็นไปในลักษณะที่ควบคุมดูแลอย่างเข้มข้น ซึ่งในแง่หนึ่งจะช่วยประคับประคองกำลังซื้อของภาคครัวเรือนไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจทำให้ประชาชนมีความตระหนักต่อการประหยัดพลังงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และรัฐบาลต้องแบกรับภาระขาดดุลงบประมาณซึ่งอาจจะมีผลต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย