Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กุมภาพันธ์ 2554

เศรษฐกิจไทย

ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง...ผลต่อแรงงานไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3050)

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงรัฐบาลเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือและประเทศตะวันออกกลาง หรือมักจะถูกเรียกรวมกันว่า ดินแดนอาหรับ ทั้งนี้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ประเทศตูนิเซีย อียิปต์ และแม้ว่าสถานการณ์ใน 2 ประเทศนี้เริ่มสงบลง แต่การประท้วงที่ก่อตัวในหลายๆ ประเทศที่เกิดขึ้นตามมา เริ่มมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเหตุการณ์จลาจลในประเทศลิเบียที่ทวีความรุนแรงระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มผู้ประท้วง ทำให้ขณะนี้เริ่มมีความกังวลถึงปัญหาความปลอดภัยของคนไทยที่ไปทำงานในลิเบีย ซึ่งจากตัวเลขที่ทางการได้ประเมินในเบื้องต้น พบว่า มีแรงงานไทยอยู่ในลิเบียประมาณ 23,000 คน

อย่างไรก็ดี สำหรับเหตุการณ์การประท้วงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในหลายด้านๆ โดยเฉพาะในด้านของความปลอดภัย ที่ในบางประเทศมีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกไปปราบปรามประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือเกิดเหตุการณ์ปล้นสะดมภ์แคมป์คนงานของชาวต่างชาติในประเทศเหล่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ โดยกรณีลิเบียได้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยกลับมายังประเทศไทยบ้างแล้ว ทั้งนี้ผลกระทบในด้านการสูญเสียรายได้ของแรงงานไทยในประเทศที่เผชิญปัญหาความไม่สงบทางการเมืองยังคงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความยืดเยื้อของเหตุการณ์ในแต่ละประเทศ ถ้าเหตุการณ์มีระยะเวลาที่ยาวนานก็จะส่งผลต่อรายได้ของคนงานไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการรายได้ส่งกลับของคนงานไทยในลิเบียที่ส่งกลับมาประเทศไทยในปี 2553 มีมูลค่าสูงถึง 3,450 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า สถานการณ์การประท้วงในหลายๆ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่ยังคงดำเนินต่อไป อาจเป็นสิ่งที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรต้องเตรียมมาตรการรองรับ นอกจากในเรื่องของการอพยพคนงานไทยกลับประเทศแล้ว ควรจะมีมาตรการรองรับระยะสั้น คือ การให้ความช่วยเหลือในการจัดหางานแก่คนงานไทยที่กลับมา ทั้งนี้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีการประสานงานกันระหว่างเอกชนและกลุ่มแรงงานไทย ที่ต้องการทำงานในประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมบางประเภทที่ยังขาดแรงงาน รวมถึงภาคก่อสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่มีงานทำ เนื่องจากกลุ่มคนไทยที่ต้องเดินทางกลับมาก่อนครบตามสัญญาการจ้างงานอาจจะได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของการมีงานทำ ประกอบกับแรงงานไทยบางกลุ่มต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า ความต้องการแรงงานในประเทศยังมีทิศทางขยายตัวตามการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงานที่ต้องการแรงงานทักษะ ปัจจุบัน ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง การเกษตร และการก่อสร้างของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากขึ้น โดยในปี 2553 ที่ผ่านมา อัตราการว่างงานของไทยต่ำเพียงร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน และมีแนวโน้มที่จะลดลงเป็นร้อยละ 0.9-1.0 ในปี 2554 การที่ในระยะข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และระบบโลจิสติกส์อื่นๆ ซึ่งโครงการบางประเภทต้องการแรงงานที่มีประสบการณ์ หากงานในประเทศมีโอกาสทางรายได้ที่ดีขึ้น อาจมีส่วนสนับสนุนให้แรงงานไทยกลับมาทำงานในประเทศมากขึ้น ในส่วนนี้ภาครัฐสามารถเป็นแกนกลางในการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานในไทยที่สอดคล้องกับทักษะ ประสบการณ์ และระดับรายได้ที่เหมาะสมต่อแรงงานไทยที่อยู่ในต่างประเทศ เพื่อให้แรงงานในต่างประเทศได้เห็นถึงโอกาสในการกลับมาทำงานในประเทศมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย