Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 มีนาคม 2554

เศรษฐกิจไทย

สถานการณ์การเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ... ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3059)

คะแนนเฉลี่ย

- สถานการณ์การเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกำลังเป็นที่จับตาจากทั่วโลก โดย ปัญหาการจลาจลในลิเบียที่ยังรุนแรงต่อเนื่องได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากพิจารณาค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบนับจากต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-7 มี.ค. 2554) ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 97.2 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่เบรนท์อยู่ที่ 101.6 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าราคาตามสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจไทย กรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (ที่คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 93.5 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบรนท์อยู่ที่ 95 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล)

- ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 18 ดอลลาร์ฯ นับตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตูนีเซียเมื่อกลางเดือนมกราคม 2554 ที่นำมาสู่การชุมนุมประท้วงรัฐบาลครอบคลุมไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ขณะที่ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีก เนื่องจากเหตุการณ์ประท้วงเริ่มขยายวงมาสู่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญในตะวันออกกลาง ทำให้คาดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูงจากปัญหาความกังวลด้านอุปทานนี้อาจจะกินระยะเวลายาวนานกว่าที่เคยคาดไว้ ทั้งนี้ ประเทศที่มีความเสี่ยงของการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลรุนแรงมีการผลิตน้ำมันรวมกันประมาณ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของการผลิตน้ำมันของโลก ปฏิกิริยาลูกโซ่ทางการเมืองในตะวันออกกลางนี้จึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ประมาณการราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2554 ขยับสูงขึ้นจากสมมติฐานเดิม โดยหากประเมินสถานการณ์กรณีที่เหตุการณ์ประท้วงในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนืออาจยืดเยื้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) ในปี 2554 มีโอกาสเพิ่มขึ้นมาอยู่ในกรอบ 98.0-108.0 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล โดยกรณีพื้นฐาน คาดว่าจะอยู่ที่ 102.0 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล

- ในกรณีสมมติฐานข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจมีอัตราการขยายตัวชะลอลงมาอยู่ในกรอบร้อยละ 3.0-4.0 โดยกรณีพื้นฐานอาจขยายตัวร้อยละ 3.6 ซึ่งต่ำกว่ากรอบประมาณการเดิมที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยคาดการณ์ไว้อยู่ในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 และกรณีพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.5 โดยการชะลอตัวดังกล่าว ที่สำคัญเป็นผลมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ และการนำเข้าที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันจะทำให้ดุลการค้าเกินดุลลดลง

อนึ่ง ข้อสมมติราคาน้ำมันข้างต้นยังไม่ครอบคลุมไปถึงความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนืออาจดำเนินไปสู่กรณีเลวร้ายที่สุด หากเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญหลายแห่งจนทำให้อุปทานน้ำมันหายไปจากระบบพร้อมกันในปริมาณมาก ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นไปเหนือระดับที่เคยทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อกลางปี 2551 ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันขั้นรุนแรง (Oil Shock) ในกรณีดังกล่าวนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจต่ำลงไปกว่ากรอบประมาณการที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้นี้ ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้ความไปได้ของเหตุการณ์รุนแรงในระดับดังกล่าวยังมีไม่สูงนักแต่คงต้องมีการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย