Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 เมษายน 2554

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกอาจขยายตัว 1.8% QoQ ... แต่ไตรมาส 2 อาจชะลอเหลือ 0.0-1.0% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3078)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกยังคงมีปัจจัยหนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 1/2554 น่าที่จะขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ ปรับฤดูกาล) แม้ว่าผลของฐานที่สูงในปีก่อนจะทำให้อัตราการขยายตัวที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีระดับต่ำเพียงร้อยละ 2.0 (YoY) ก็ตาม

แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2554 อาจต้องเผชิญมรสุมรุมเร้าหลายด้าน จากปัจจัยนอกเหนือความคาดหมายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ ตั้งแต่ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในกลุ่มประเทศอาหรับที่ลุกลามและยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ตามมาด้วยเหตุการณ์ภัยพิบัติและวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ตลอดจนสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ ที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตของไทยในไตรมาสที่ 2/2554

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์อุทกภัยในภาคใต้อยู่ที่ประมาณ 18,900-35,000 ล้านบาท โดยจะกระทบอย่างมากต่อภาคเกษตรกรรมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากจะมีเม็ดเงินจากภาครัฐเข้ามาเพื่อช่วยเหลือและบูรณะฟื้นฟูความเสียหาย ทำให้คาดว่าผลกระทบโดยสุทธิแล้วอาจจะทำให้จีดีพีในปี 2554 ลดลงประมาณร้อยละ 0.09-0.16

จากทิศทางดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 2/2554 อาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 0.0-1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ ปรับฤดูกาล) โดยกรณีพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.5 แต่ด้วยผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่เริ่มต่ำลง ทำให้อัตราการขยายตัวที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน น่าที่จะสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบร้อยละ 2.5-3.5 (YoY) โดยกรณีพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0

ทั้งนี้ ปัจจัยลบจากปัญหาในญี่ปุ่นและเหตุการณ์อุทกภัยใต้น่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาความไม่สงบในกลุ่มประเทศอาหรับ ที่อาจผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงกว่ากรอบที่ประมาณการไว้ เมื่อรวมกับผลของความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร จะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม สำหรับทิศทางการส่งออกนั้นยังมีปัจจัยที่อาจหนุนให้ตัวเลขมูลค่าการส่งออกทั้งปีออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น ปัจจัยด้านราคา การกลับมาเร่งตัวของภาวะการผลิตและการส่งออกในครึ่งปีหลัง และอุปสงค์จากประเทศญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ทั้งปีอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 และกรณีพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.6

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย