Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 เมษายน 2554

เศรษฐกิจไทย

ความท้าทายด้านการคลัง ... ในระยะยาว ยังคงเป็นนโยบายงบประมาณสมดุล (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3094)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากกำหนดการทางการเมืองเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คือ การยุบสภาฯ ภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 และการจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45-60 วัน หรือในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ภาวะสูญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้น น่าจะมีผลค่อนข้างจำกัดต่อสถานะทางการคลัง บนเงื่อนไขสำคัญที่การจัดเก็บรายได้ยังสามารถทำได้เกินเป้าหมาย ขณะเดียวกัน แม้การบังคับใช้กรอบรายจ่ายปีงบประมาณ 2555 อาจจำเป็นต้องเลื่อนออกไป จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อกระบวนการจัดทำ ซึ่งอาจกินเวลาเบื้องต้นไม่เกิน 1 ไตรมาสนั้น การเบิกจ่ายของหน่วยงานภาครัฐที่ยังดำเนินการได้ภายใต้กรอบงบประมาณปี 2554 ไปพลางก่อน โดยเฉพาะในส่วนรายจ่ายประจำ ประกอบกับ ปัจจัยด้านฤดูกาลที่ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ มักเป็นช่วงเวลาที่การเบิกจ่ายไม่หนาแน่นมากนัก คงจะทำให้ผลสุทธิต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ และต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จากการยุบสภาฯ โดยลำพัง มีขอบเขตไม่มากนัก

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินนโยบายงบประมาณสมดุล จะยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับรัฐบาล โดยจากการประเมินในเบื้องต้นนั้น มีโอกาสที่เป้าหมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ภายใน 5 ปี ตามที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมุ่งหวังไว้ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขหลายประการประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อัตราการเติบโตของ Nominal GDP ควรจะต้องขยายตัวเฉลี่ย 8% ในช่วงปี 2555-2558 การขยายตัวของรายได้รัฐบาลที่ควรต้องเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.6% เร่งขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับรายจ่ายงบประมาณที่ประเมินไว้ว่าควรจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงมามีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 4.6% จากการทยอยลดบทบาทด้านการคลังโดยเฉพาะสำหรับมาตรการระยะสั้นและมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เงื่อนไขเหล่านี้ยังมีรายละเอียดที่เกี่ยวพันกับหลายส่วน อาทิ โครงการลงทุน และนโยบายปรับโครงสร้างระบบภาษี นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ การดำเนินการของรัฐบาลยังอาจเผชิญข้อจำกัดจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หรือจังหวะเวลาที่ไม่เอื้ออำนวย ที่อาจมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ รวมไปถึงความจำเป็นที่รัฐบาลยังคงต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการดูแลราคาสินค้า และมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพต่างๆ รวมไปถึงแผนการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น อันส่งผลให้การทยอยลดบทบาทด้านการคลังคงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย