Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 เมษายน 2554

เศรษฐกิจไทย

วันแรงงานแห่งชาติปี 2554 : หลากหลายประเด็น...ผลต่อแรงงานและผู้ประกอบการ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3099)

คะแนนเฉลี่ย

วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยวันแรงงานแห่งชาติมีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด สะท้อนภาพของตลาดแรงงานในภาพรวมว่า อัตราการว่างงานของไทยนั้นยังคงอยู่ระดับที่ต่ำ โดยตัวเลขล่าสุดเดือน มกราคม 2554 อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด โดยที่มีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 373,930 คน

สำหรับประเด็นที่หลายภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ คือ นโยบายภาครัฐที่มีแนวคิดจะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำร้อยละ 25 ในระยะเวลา 2 ปี เพิ่มเติม จากที่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ได้มีการบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งปรับขึ้นประมาณ 8-17 บาท ทั่วประเทศ (โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5.0 จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิม) ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น เพื่อเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายของแรงงาน ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยจะทยอยปรับขึ้นตามสัดส่วนค่าจ้างแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ดี เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ รัฐบาลได้มีแนวคิดที่จะเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจไปพร้อมกับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้บริโภคกำลังต้องเผชิญกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำยังช่วยจูงใจให้แรงงานที่อยู่ในภาคเกษตร เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวอาจมีผลทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการคงจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับต้นทุนแรงงานที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น เกษตรกรรม ประมง และขนส่ง เป็นต้น และกลุ่มผู้ประกอบการที่รับจ้างการผลิตจากต่างประเทศที่ในอุตสาหกรรมนั้น มีการแข่งขันที่สูงอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ ควรต้องเตรียมพร้อมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตลง เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้สูญเสียน้อยที่สุด การนำเครื่องจักรพื้นฐานเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น เพราะธุรกิจเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของต้นทุน

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า นอกจากเครื่องมือทางภาษีที่รัฐบาลจะพิจารณาเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการแล้ว รัฐบาลน่าจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้มีคุณภาพในระยะยาว เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในโลกการค้าเสรี โดยเริ่มต้นจากการจัดระบบการศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของสาขาอาชีพ เพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาดแรงงานและการใช้กำลังแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับวิชาชีพที่เรียนมา สำหรับภาวะตลาดแรงงานไทยในปี 2554 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการว่างงานของไทย จะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำประมาณร้อยละ 0.9-1.1

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย