Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 เมษายน 2554

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2554 เติบโตแข็งแกร่ง... แต่จังหวะการขยายตัวอาจชะลอลงในไตรมาส 2/2554 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3100)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดเดือนมีนาคม 2554 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งเกินคาดในหลายเครื่องชี้ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ยังคงได้รับอานิสงส์จากสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการใช้จ่ายภายในประเทศ ที่ฟื้นกลับมาขยายตัวในจังหวะที่เร่งขึ้น หลังจากที่ผลกระทบจากภาวะอุทกภัยในภาคใต้ยังอยู่ในวงจำกัด อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยยังอยู่ในช่วงหดตัว และเริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับการผลิตในบางอุตสาหกรรมของไทยแล้ว ซึ่งผลของการลดกำลังการผลิตจากปัญหาด้านอุปทานดังกล่าว อาจยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจของไทยในเดือนมีนาคมและในไตรมาสแรก ที่ยังคงขยายตัวได้ดี น่าที่จะทำให้ตัวเลข GDP ในช่วงไตรมาสที่ 1/2554 ขยายตัวในจังหวะที่เร่งขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 (QoQ) ก่อนที่จะมีทิศทางที่แผ่วลงในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 จากการฉุดรั้งของการชะลอตัวของภาคการผลิต และการส่งออกของไทยตามการลดกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น และการขยับขึ้นของภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี มาตรการในเชิงผ่อนคลายของภาครัฐเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน อาทิ การดูแลราคาสินค้าจำเป็น ตลอดจนความพยายามล่าสุดที่จะมีแผนผลักดันมาตรการอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก และการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ก็น่าที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น และทำให้เศรษฐกิจไทยยังประคับประคองแรงส่งของการขยายตัวไว้ได้

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าและวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นคลี่คลายลงในช่วงไตรมาสที่ 3/2554 ก็น่าที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี ได้รับแรงหนุนกลับมาจากการเร่งกำลังการผลิตของหลายๆ อุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ขณะที่ การขยายอายุมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และราคาก๊าซ LPG/NGV สำหรับภาคครัวเรือนและขนส่ง อาจช่วยชะลอจังหวะการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อและค่าครองชีพ ซึ่งย่อมจะทำให้ภาระรายจ่ายเพื่อการบริโภคของภาคเอกชนเบาบางลง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีโอกาสทรงตัวในระดับสูง และกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่อาจมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ก็อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงเสียดทานต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย