Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 พฤษภาคม 2554

เศรษฐกิจไทย

ค่าครองชีพสูง และต้นทุนการผลิตแพง...โจทย์ 2 ด้านของปัญหาเงินเฟ้อไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3101)

คะแนนเฉลี่ย

ราคาสินค้าผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในอัตราที่ค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 1.38 (MoM) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่การขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์สิ้นสุดลง และเมื่อผนวกเข้ากับการปรับตัวขึ้นในวงกว้างของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด และราคาน้ำมันขายปลีกในกลุ่มที่ไม่ได้รับการชดเชยจากภาครัฐ ทำให้จังหวะการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2554 สะท้อนภาวะค่าครองชีพแพงในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทะยานขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 4.04 (YoY) จากระดับร้อยละ 3.14 ในเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยับขึ้นของราคาสินค้าผู้บริโภคแบบก้าวกระโดด (ดังเช่นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา) น่าที่จะไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในช่วงหลายเดือนข้างหน้าหากราคาสินค้าเกษตรกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยการติดตามดูแลราคาสินค้าที่จำเป็น และมาตรการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชนจากภาครัฐ อาจมีส่วนช่วยทำให้การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในแต่ละเดือนเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาส 2/2554 อาจมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงร้อยละ 4.0 (YoY) ซึ่งสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.0 (YoY) ในช่วงไตรมาสที่ 1/2554 ที่ผ่านมา

สำหรับทิศทางเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แรงกดดันเงินเฟ้อน่าที่จะคงอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยได้รับแรงหนุนจากกระบวนการทยอยส่งผ่านภาวะต้นทุนการผลิตที่ได้รับแรงกดดันหลายด้านมายังราคาสินค้าผู้บริโภค ขณะที่ ราคาพลังงานหลายประเภท (ราคาน้ำมันดีเซล ราคาก๊าซ LPG/NGV สำหรับภาคครัวเรือนและขนส่ง) ที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐอาจมีแนวโน้มขยับขึ้น หลังจากที่ช่วงเวลาการตรึงราคาสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2554 ซึ่งแรงหนุนเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทาน (Cost-Push Inflation) ดังกล่าว อาจมีนัยสำคัญมากขึ้นหากราคาพลังงานในตลาดโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูงในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาพรวมของเงินเฟ้อทั่วไปปี 2554 น่าจะอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 3.6-4.6 (ค่ากลางที่ร้อยละ 4.0) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าที่จะอยู่ในกรอบร้อยละ 2.4-3.0 (ค่ากลางที่ร้อยละ 2.6) ดังนั้น ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่น่าจะคงอยู่จนถึงสิ้นปี 2554 อาจเป็นหนึ่งในโจทย์เศรษฐกิจที่ท้าทายสำหรับการวางแนวนโยบายของภาครัฐในช่วงต่อๆ ไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย