Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 พฤษภาคม 2554

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ... ผลกระตุ้นจากช่วงเลือกตั้ง อาจบรรเทาผลกระทบการชะลอตัวในภาคการผลิต (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3110)

คะแนนเฉลี่ย

จากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพีของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/2554 เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส โดยขยายตัวร้อยละ 2.0 จากไตรมาสก่อน (Quarter-on-Quarter ปรับฤดูกาล) จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 (QoQ) ในไตรมาสที่ 4/2553 อย่างไรก็ตาม จากผลของฐานที่เศรษฐกิจเติบโตสูงมากในไตรมาสที่ 1/2553 ทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาสที่ 1/2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีระดับต่ำลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 (Year-on-Year) จากที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสที่ 4/2553

ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรก มีแรงขับเคลื่อนจากแทบทุกองค์ประกอบ ทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออก การท่องเที่ยว และผลผลิตในภาคการเกษตร แต่จากที่กิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ทำให้ระดับสินค้าคงคลังปรับลดลงค่อนข้างมาก

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2554 อาจมีระดับทรงตัวจากไตรมาสแรกที่ผ่านมา (QoQ) ขณะที่อัตราการขยายตัวของจีดีพีที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอาจใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่ประมาณร้อยละ 3 (YoY) โดยมีปัจจัยฉุดจากการปรับลดกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญที่ประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น แต่คาดว่าการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 น่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2554 ได้ประมาณร้อยละ 0.9-1.4

ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 แม้คาดว่าจะมีปัจจัยบวกมาจากการฟื้นกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมกลับคืนสู่ระดับปกติ แต่เศรษฐกิจอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายด้าน ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ความล่าช้าในการบังคับใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งทิศทางเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจมีโอกาสที่จะเผชิญกับแนวโน้มต้นทุนที่เพิ่มขึ้นพร้อมกันในหลายด้าน ทั้งราคาวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน (ไฟฟ้า ก๊าซแอลพีจี และน้ำมัน) ค่าจ้างแรงงาน ต้นทุนอัตราดอกเบี้ย และต้นทุนค่าขนส่ง เป็นต้น

โดยภาพรวมในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อยู่ที่ร้อยละ 3.6 (กรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0-4.0) ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยประมาณ 108 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย