Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 พฤษภาคม 2554

เศรษฐกิจไทย

เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนเม.ย. 54 : สะท้อนปัญหาในภาคการผลิต และการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3118)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดเดือนเมษายน 2554 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นของปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับซัพพลายเชนในญี่ปุ่น โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ที่มีการปรับลดการผลิตลงค่อนข้างมาก ขณะที่ ภาคการส่งออก การบริโภค การลงทุน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ล้วนชะลอตัวในทิศทางที่สอดคล้องกัน และทำให้ภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 อาจเผชิญกับภาวะชะลอตัวในหลายภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

- การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนก่อนหน้าเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และหดตัวลงถึงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ในเดือนเมษายน ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 6.7 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ การผลิตยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนหดตัวลงในอัตราที่มากที่สุดในรอบ 22 เดือนถึงร้อยละ 27.8 อนึ่ง การปรับลดกำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการส่งออก ส่งผลทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (ปรับฤดูกาล) ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีครึ่งที่ร้อยละ 59.7

- การส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 24.7 (YoY) ในเดือนเมษายน จากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.0 ในเดือนมีนาคม นำโดย การหดตัวลงร้อยละ 9.3 ของการส่งออกในหมวดยานพาหนะและชิ้นส่วน (จากที่ขยายตัวร้อยละ 21.4 ในเดือนมีนาคม) ส่วนการนำเข้าในเดือนเมษายนนั้น ขยายตัวร้อยละ 26.3 (YoY) ชะลอเพียงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 27.2 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ เหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อการนำเข้าในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนให้ขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงมาอยู่ที่ร้อยละ 10.4 ในเดือนเมษายน อนึ่ง มูลค่าการส่งออกที่ชะลอตัวลงมาก ส่งผลทำให้ดุลการค้าพลิกกลับลงมาบันทึกยอดขาดดุลอีกครั้งที่ 477.0 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเมษายน จากที่เกินดุล 1,892 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมีนาคม

- การบริโภค-การลงทุนภาคเอกชนชะลอการขยายตัวลงมาที่ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 12.8 (YoY) ในเดือนเมษายน จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 และร้อยละ 14.1 ในเดือนมีนาคม ตามลำดับ นำโดย ความซบเซาของปริมาณการจำหน่ายในหมวดยานยนต์ ทั้งนี้ สัญญาณที่อ่อนแอของเครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายภาคส่วนดังกล่าวข้างต้น มีความสอดคล้องกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนในเดือนเมษายน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 79.6 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลงมาอยู่ที่ 47.3 ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่บ่งชี้ถึงความไม่เชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน

อย่างไรก็ดี ภาคเกษตร และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขยายตัวสูง และแทบไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่น โดยผลผลิตภาคการเกษตร และราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ยังคงเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้รายได้เกษตรกรขยายตัวในเกณฑ์สูงได้อย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 62.9 ในเดือนเมษายน) ขณะที่ จากรายงานของธปท.ระบุว่า ภัยพิบัติในญี่ปุ่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในเดือนเมษายน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นหลังขจัดปัจจัยฤดูกาลยังขยายตัวได้ร้อยละ 9.7 จากเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาวะชะงักงันของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมสำคัญของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 อันเป็นผลมาจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน/วัตถุดิบหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น อาจสร้างความสูญเสียต่ออุตสาหกรรมไทยในช่วงไตรมาส 2/2554 เป็นมูลค่าประมาณ 65,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของ GDP ประจำไตรมาส 2/2554 อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่บรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศบางส่วน อาจได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินที่สะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเดือนท้ายๆ ของไตรมาสที่ 2/2554 (ซึ่งอาจมีมูลค่าประมาณร้อยละ 0.9-1.4 ของ GDP ประจำไตรมาส 2/2554) ท่ามกลางกิจกรรมการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ว่า มูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 อาจทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า หรือสามารถรักษาทิศทางการขยายตัวไว้ได้ในอัตราใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1/2554 ที่ประมาณร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย