Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มิถุนายน 2554

เศรษฐกิจไทย

การใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวในช่วงเวลานับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3136)

คะแนนเฉลี่ย

สัญญาณการใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนเดือนพฤษภาคม 2554 ให้ภาพที่เป็นบวกมากขึ้นเมื่อเทียบกับภาวะหยุดชะงักในช่วงเดือนเมษายนที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายภาคส่วนสะท้อนถึงผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับซัพพลายเชนในญี่ปุ่น ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้จ่ายในรายการอื่นๆ นอกเหนือไปจากเครื่องชี้ในหมวดยานยนต์ ต่างก็ฟื้นตัวกลับขึ้นมาในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับกิจกรรมการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 โดยบรรยากาศที่ดีขึ้นของการใช้จ่ายในประเทศ เข้ามาช่วยชดเชยแรงบวกที่หายไปจากภาคการส่งออก โดยรายละเอียดของเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม มีดังนี้ :-

- การบริโภคภาคเอกชนเดือนพฤษภาคม 2554 พลิกกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.9 (MoM) นำโดย การขยายตัวของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และปริมาณการใช้ไฟฟ้า ตามลำดับ ขณะที่ องค์ประกอบด้านปริมาณการจำหน่ายในหมวดยานยนต์ และปริมาณการจำหน่ายเชื้อเพลิง หดตัวลงสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์

- การลงทุนภาคเอกชนเดือนพฤษภาคม 2554 ฟื้นกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.4 (MoM) ตามการขยายตัวของทุกองค์ประกอบ อาทิ การนำเข้าสินค้าทุน ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ยกเว้น ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ที่หดตัวลงตามการหยุดชะงักลงในภาคการผลิต

- มูลค่าการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2554 หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อีกร้อยละ 1.8 (MoM) โดยเป็นผลมาจากการลดลงทั้งทางด้านราคาและปริมาณสินค้าส่งออก อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรยังสามารถขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.8 (MoM) แม้ว่าการส่งออกในหมวดหลักอื่นๆ จะชะลอตัวลงก็ตาม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2554 น่าที่จะสามารถรักษาทิศทางการขยายตัวไว้ได้ในอัตราใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1/2554 ที่ประมาณร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ท่ามกลางภาพเชิงบวกของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในส่วนของบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ ที่ทยอยปรากฏมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ขณะที่ สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้นในช่วงปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา น่าที่จะทำให้แรงกดดันต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยลดน้อยลงด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า มูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 จะเพิ่มขึ้นได้จากระดับในไตรมาส 1/2554 สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลของปัจจัยเรื่องฐานการคำนวณเปรียบเทียบ น่าจะหนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ในกรอบประมาณร้อยละ 3.4-4.8 (YoY) ในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 แต่เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศหลังการเลือกตั้ง ทิศทางเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มเงินเฟ้อ-ต้นทุนการผลิต-พลังงานในประเทศที่อาจขยับสูงขึ้น ยังคงเป็นตัวแปรที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย