Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 สิงหาคม 2554

เศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงขยับขึ้น...เพิ่มแรงกดดันต่อการคุมเข้มนโยบายการเงินของธปท.(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3151)

คะแนนเฉลี่ย

ะดับราคาสินค้าผู้บริโภคล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2554 ยังคงปรับสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 อยู่ที่ 4.08% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยับขึ้นจาก 4.06% YoY ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับขึ้นมาที่ 2.59% YoY ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 2.55% YoY ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ แม้ว่าข้อมูลเงินเฟ้อของไทยเดือนล่าสุดจะไม่เร่งตัวขึ้นมากนักแบบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงการคาดการณ์ว่า แนวโน้มเงินเฟ้อของไทยยังไม่คงไม่ผ่านพ้นจุดสูงสุด ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงปลายปี 2554 นี้ หรือในช่วงต้นปี 2555 ขึ้นอยู่กับข้อสรุปรายละเอียดของแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของรัฐบาลชุดใหม่

สำหรับทิศทางเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 จะอยู่ในกรอบที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4.5% YoY ในช่วงครึ่งปีหลัง เร่งขึ้นจากค่าเฉลี่ย 3.56%YoY ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจขยับขึ้นมามีค่าเฉลี่ยไม่ต่ำว่า 2.8% YoY เร่งขึ้นจากค่าเฉลี่ย 1.91% YoY ในช่วงครึ่งปีแรก โดยยังคงมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานบางเดือนในช่วงที่เหลือของปีจะเกิน 3.0% ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อ 0.5-3.0% ของธปท. ทั้งนี้ ตัวแปรในช่วงหลังจากนี้ที่อาจมีผลต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าวข้างต้น คือ มาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดอายุมาตรการในเดือนกันยายน 2554 ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงจังหวะเดียวกันกับการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ ยังมีทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ความผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศที่จะมีผลต่อทิศทางราคาสินค้าเกษตร กลไกการส่งผ่านแรงกดดันด้านต้นทุนของผู้ผลิต (พลังงาน-ค่าจ้าง-วัตถุดิบ-อัตราดอกเบี้ย) มายังราคาสินค้าผู้บริโภค ตลอดจนทิศทางของการคาดการณ์เงินเฟ้อที่อาจเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีการเปิดเผยรายละเอียดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่

สำหรับการประชุมกนง.รอบถัดไปในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ เครือธนาคารกสิกรไทย คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะขยับขึ้นอีก 0.25% สู่ระดับ 3.50% และมีความเป็นไปได้ที่จะปรับสูงขึ้นอีกในรอบการประชุมที่เหลือของปี เนื่องจากคาดว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อยังน่าจะมีน้ำหนักสำคัญต่อการพิจารณากำหนดจุดยืนนโยบายการเงินของธปท.

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย