Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 สิงหาคม 2554

เศรษฐกิจไทย

S&P ปรับลดอันดับเครดิตสหรัฐฯ ... ผลต่อเศรษฐกิจไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2260)

คะแนนเฉลี่ย

สหรัฐฯ สูญเสียอันดับความน่าเชื่อถือ AAA เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังจากที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของสหรัฐฯ ลง 1 ขั้นจาก ‘AAA' สู่ ‘AA+' โดยมีแนวโน้มเป็นเชิงลบ ซึ่งหมายถึงความอ่อนไหวต่อการถูกปรับอันดับเครดิตลงอีกในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า

แม้ S&P จะให้น้ำหนักไปที่แผนการตัดลดการขาดดุลงบประมาณระยะ 10 ปีข้างหน้า (ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554) ที่ออกมาน้อยกว่าเงื่อนไขที่ S&P ได้ประกาศไว้ แต่การประกาศลดอันดับเครดิตที่เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่โมเมนตัมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแรงลง จนทำให้มีความกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เผชิญกับข้อจำกัดทางด้านการคลัง อาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่ (Double-Dip Recession) นั้น ก็ได้สร้างความปั่นป่วนค่อนข้างมากต่อตลาดการเงินทั่วโลก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะเลวร้ายรอบใหม่ ดังนี้ :-

- ผลต่อตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก : คาดว่า นักลงทุนจะยังคงอยู่ในกระแสของการปรับลดสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่ต้องสะดุดลงด้วยวิกฤตในภาคการคลัง อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากปริมาณ คุณภาพ และสภาพคล่องของตลาด

- ผลต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทย : ในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2555 จนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1 สถานการณ์ดังกล่าวอาจกดดันให้การส่งออกของไทยขยายตัวชะลอลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 (จากคาดการณ์กรณีปกติที่ร้อยละ 12.0-17.0) โดยธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงมีโอกาสได้รับผลกระทบมาก ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกดดันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย แม้ว่าแรงขับเคลื่อนจากจีนและภูมิภาคเอเชีย บวกกับมาตรการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลไทยอาจช่วยประคับประคองให้จีดีพียังขยายตัวเป็นบวกได้ แต่อัตราการขยายตัวอาจต่ำลงมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 2 (จากคาดการณ์กรณีปกติที่ร้อยละ 4.5-5.8)

- ผลต่อตลาดการเงินไทย : ผลกระทบต่อสภาพคล่องของระบบนั้น คาดว่ามีโอกาสลดลงในระยะสั้น ตามพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ขณะที่ คาดว่าประเด็นด้านความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว คงจะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายการเงินของ ธปท.ในระยะข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย