สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และความเสียหายยังมีโอกาสทวีความรุนแรงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความสูญเสียต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี อาจมีมูลค่าสุทธิ 75,000-113,000 ล้านบาท จำแนกเป็นความเสียหายในภาคการเกษตร 20,000-30,000 ล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม 38,000-59,000 ล้านบาท และภาคบริการและอื่นๆ รวม 17,000-24,000 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุทกภัยร้ายแรงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ลดลงจากคาดการณ์เดิมถึงร้อยละ 0.69-1.04 ลงมาอยู่ในกรอบร้อยละ 2.9-3.6 โดยกรณีพื้นฐานคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 (จากเดิมมีกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5-4.2 และกรณีพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.8)
ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยคาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีในไตรมาสที่ 4/2554 มีอัตราการขยายตัวต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 2.0-3.8 หายไปถึงร้อยละ 2.0-3.2 (จากเดิมที่เคยคาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 4.0-5.8)
ทั้งนี้ ปัญหาอุทกภัยอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อภาวะเงินเฟ้อที่ปัจจุบันมีระดับสูงอยู่แล้ว รวมทั้งยังซ้ำเติมปัญหาในภาคอุตสาหกรรม ที่เพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบของภัยพิบัติในญี่ปุ่น และยังมีหลากหลายปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า ทั้งความเสี่ยงต่อวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่ในยูโรโซนและสหรัฐฯ และผลกระทบจากแนวโน้มการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงปีหน้า นอกจากนี้ บทเรียนที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของอุทกภัยต่อพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรสื่อสารถึงแนวทางชัดเจนในการป้องกันปัญหาในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ขณะที่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลก็อาจต้องมีการปรับแนวทางให้สอดรับความจำเป็นในการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ในการฟื้นฟูและช่วยเหลือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ
อนึ่ง รัฐบาลควรมีการวางยุทธศาสตร์เร่งด่วนในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น