Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 ตุลาคม 2554

เศรษฐกิจไทย

อุทกภัยแผ่ขยายท่วมกรุงเทพฯ ... ฉุดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 หดตัว 3.3% (YoY) ทั้งปีอาจขยายตัวเพียง 1.7% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3194)

คะแนนเฉลี่ย
  • จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่ามหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งความเสียหายจะยังคงมีเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ที่เป็นทางผ่านของน้ำออกสู่ทะเล โดย ณ ขณะนี้ เริ่มเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทั่วทั้งกรุงเทพมหานครคงไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะน้ำท่วม ขณะที่แนวเส้นทางผันน้ำลงสู่ทะเลทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับฉะเชิงเทราและสมุทรปราการนั้น ยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอีก 7 แห่ง ที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินแนวโน้มความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Economic Losses) ล่าสุด ภายใต้สมมติฐาน 2 กรณี ดังนี้
    • กรณีพื้นฐาน (Base Case)การระบายออกสู่ทะเลได้หมดอาจยังต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึงเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ระดับน้ำท่วมในกรุงเทพฯ สูงเฉลี่ย 50 ซม. เป็นระยะเวลาประมาณ 30 วัน ส่วนนิคมอุตสาหกรรมในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบางส่วน
    • กรณีเลวร้าย (Worst Case)การระบายน้ำออกสู่ทะเลได้หมดอาจยังต้องใช้เวลาถึงเดือนธันวาคม ขณะที่ระดับน้ำท่วมในกรุงเทพฯ สูงเฉลี่ย 80 ซม. ในระยะเวลา 45 วัน สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อาจเสียหายรุนแรงจากน้ำท่วม
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มหันตภัยครั้งนี้อาจสร้างความสูญเสียต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี เป็นมูลค่าสุทธิ 242,200 ล้านบาทในกรณีพื้นฐาน แต่ในกรณีเลวร้ายความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยสุทธิอาจสูงถึง 330,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.3-3.1 ของจีดีพี โดยภาคอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายหนักที่สุดมีมูลค่าประมาณ 171,900-234,900 ล้านบาท (หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของความเสียหายทั้งหมด)
  • ผลดังกล่าวคาดว่าจะฉุดให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2554 หดตัวลงถึงร้อยละ 3.3 ในกรณีพื้นฐาน แต่กรณีเลวร้ายอาจหดตัวถึงร้อยละ 6.3 จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.9 ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 1.7 ในกรณีพื้นฐาน และร้อยละ 0.9 ในกรณีเลวร้าย จากเดิมที่เคยคาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 3.8
  • สำหรับแนวโน้มในปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 โดยการผลิตและการส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 1/2555 ขณะที่แรงงานจำนวนมากที่ต้องเผชิญการว่างงานอาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้จีดีพีในไตรมาสที่ 1/2555 มีโอกาสบันทึกตัวเลขติดลบ ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ประมาณช่วงไตรมาสที่ 2/2555 อย่างไรก็ตาม แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของรัฐในการเยียวยาผู้ประสบภัย และการใช้จ่ายลงทุนเพื่อบูรณะอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และสาธารณูปโภค รวมถึงการเสริมการป้องกันปัญหาน้ำท่วมสำหรับช่วงฤดูกาลหน้า ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ น่าจะเป็นแรงหนุนที่เข้ามาชดเชยกันได้ในระดับหนึ่ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย