Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 ตุลาคม 2554

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยเดือนก.ย. เริ่มชะลอตัว...แต่คาดผลกระทบจากน้ำท่วม จะชัดขึ้นในเครื่องชี้เดือนต.ค.-พ.ย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3199)

คะแนนเฉลี่ย

าพรวมของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนกันยายน 2554 กลับมาสะท้อนภาพในเชิงลบอีกครั้ง ทั้งในส่วนของภาคการผลิต การใช้จ่ายภายในประเทศ และการส่งออก โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการเริ่มได้รับแรงกดดันจากผลกระทบน้ำท่วมบ้างแล้ว

  • การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะการผลิตในหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และหมวดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ที่หดตัวลงในเดือนกันยายน ตามภาวะเศรษฐกิจโลก
  • การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัวลงอีกครั้งในเดือนกันยายน 2554 ที่ร้อยละ1.6 และร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สอดคล้องกับการถดถอยลงของความเชื่อมั่นภาคเอกชน ทั้งในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ
  • การส่งออกชะลอการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน มาที่ร้อยละ 18.4 (YoY) ในเดือนกันยายน โดยปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวลงในอัตราที่ค่อนข้างมากในเกือบทุกหมวด ตามภาวะอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และการลดการส่งออกข้าว ส่วนในด้านการนำเข้านั้น ชะลอลงมาที่ร้อยละ 42.6 (YoY) ในเดือนกันยายนเช่นกัน

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ยังคงขยับขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลทำให้ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุลเพิ่มขึ้นมาที่ 2.42 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดี ยอดขาดดุลบัญชีรายได้และเงินโอน ที่เพิ่มขึ้นมาที่ 2.01 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกันยายน (ตามการลดลงของรายรับจากการท่องเที่ยว) ทำให้ไทยบันทึกยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพียง 0.40 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกันยายน

แม้ภาพรวมของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน จะยังคงไม่สะท้อนภาพเชิงลบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปในวงกว้าง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะอุทกภัยครั้งร้ายแรงในรอบหลายทศวรรษของไทย จะเพิ่มแรงกดดันในวงกว้างและให้ภาพชัดเจนมากขึ้นในเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 (ที่มวลน้ำเริ่มรุกคืบเข้าสู่กรุงเทพฯ) ก่อนที่ทิศทางการฟื้นตัวจะเริ่มขึ้นบางภาคส่วน โดยเฉพาะเครื่องชี้ด้านการบริโภคและกิจกรรมก่อสร้าง ในเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูประเทศหลังระดับน้ำท่วมเริ่มลดลง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย และทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะกดดันให้เศรษฐกิจไทยสูญเสียโมเมนตัมการขยายตัวอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4/2554 โดยอัตราการหดตัวของจีดีพีน่าที่จะอยู่ในกรอบร้อยละ 3.3-6.3 (YoY) เทียบกับประมาณการเดิมก่อนช่วงน้ำท่วมที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.9 (YoY) โดยระดับความรุนแรงของการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับ 2 สมมติฐาน คือ กรณีพื้นฐานที่ ระดับน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยประมาณ 50 ซม. (30-150 ซม.) กินเวลาประมาณ 1 เดือน และกรณีเลวร้ายที่ระดับน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นเป็น 80 ซม. และกินเวลานานมากขึ้นเป็น 1 เดือนครึ่ง

จากการที่ปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศ และภาวะความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่างประเทศ เป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญค่อนข้างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในกรณีพื้นฐานว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีปี 2554 น่าที่จะชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และมีโอกาสชะลอลงรุนแรงมาที่ร้อยละ 0.9 ในกรณีเลวร้าย สำหรับประเด็นที่จะต่อเนื่องผูกพันไปยังแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2555 นั้น ก็คือ แผนการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด ทั้งในส่วนที่กระตุ้นโดยตรงจากโครงการภาครัฐ และมาตรการส่วนอื่นๆ ที่สนับสนุนและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการทันที เพื่อกระตุ้นโมเมนตัมการใช้จ่ายในประเทศกลับมา ช่วยชดเชยผลกระทบที่ไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลกในช่วงปีข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย